คำสั่งฟ้าผ่า! ร้านอาหารโอดรัฐออกมาตรการคุมเข้มโควิด แต่ไร้การเยียวยา

คำสั่งฟ้าผ่า! ร้านอาหารโอดรัฐออกมาตรการคุมเข้มโควิด แต่ไร้การเยียวยา

สมาคมภัตตาคารไทยโอดรัฐออกคำสั่งฟ้าผ่า! ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน เริ่มวันนี้ (28 มิ.ย.) แต่ไร้มาตรการเยียวยา หวังรัฐอุ้มร้านอาหารเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า สำหรับคำสั่งของรัฐให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้านเป็นเวลา 1 เดือนว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ว่ารายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ซ้ำๆ 4-5 หน ตายก็ไม่ตาย นอนพะงาบๆ แบบทรมาน ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือใดๆ มาช่วยรักษา อยู่กลางแดดเพื่อรอเวลาตายอย่างเดียว เพราะสัดส่วนรายได้ 90% ของร้านอาหารมาจากคนนั่งทานในร้าน แต่รัฐบาลกลับเล่นออกมาตรการควบคุมโดยไม่มีการเยียวยาใดๆ

ทั้งนี้สมาคมฯมองว่าสิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าในตอนนี้เลยก็คือ ให้รัฐบาลไปหาเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินของรัฐหรือรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน นำไปจัดซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารวันละ 200,000 กล่อง ในราคากล่องละ 50 บาท เท่ากับใช้เงินวันละ 10 ล้านบาท หรือเดือนละ 300 ล้านบาทมาช่วยพยุงร้านอาหารในช่วง 1 เดือนนี้ก่อน ซึ่งรัฐบาลสามารถนำอาหารไปแจกที่แคมป์คนงานก่อสร้างที่รัฐบาลสั่งปิดก็ได้

ส่วนที่รัฐบาลเคยระบุว่าจะนำเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินจากโควิด-19 ระลอกใหม่ มาช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงร้านอาหาร ยังต้องรอไปอีก 2 เดือน กว่าจะถึงตอนนั้นในช่วง 1 เดือนนี้ร้านอาหารคงตายกันหมดแล้ว และจะส่งผลกระทบไปถึงซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ตลาดขายของไม่ได้ คนในภาคการเกษตรก็ขายผลผลิตไม่ได้อีก และในความเป็นจริงของร้านอาหารที่มีจำนวนหลายแสนแห่ง มีจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและมีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 15,000 แห่งเท่านั้น ต่อให้รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานก็ช่วยร้านอาหารได้เพียงบางส่วน แต่อีกหลายแสนร้านซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของร้านอาหารทั้งหมดในไทย จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะลูกจ้างนับล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

“สมาคมฯเข้าใจถึงเหตุผลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดีว่าท่านห่วงร้านอาหาร และท่านก็เชื่อข้อเสนอของฝั่งแพทย์ที่ให้ข้อมูลว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิต จากการเปิดหน้ากากอนามัยทานอาหารในร้านจึงติดเชื้อโควิด-19 แต่ตอนนี้คนทำร้านอาหารกำลังจะอดตายจริงๆ เพราะเจอวิกฤตินี้มานานกว่า 1 ปีครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง เป็นร้านห้องแถวที่ไปขอกู้เงินก็ไม่ได้เพราะติดเครดิตบูโรและมีประวัติเป็นหนี้เสีย ทางฝั่งธนาคารเองก็ต้องการเฉพาะลูกค้าประวัติดี ถ้าจะให้ร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยแก้ไขจุดนี้ เพราะภาวะตอนนี้ไม่ปกติ เป็นวิกฤติที่ยืดเยื้อ จึงขอให้นายกฯเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ด้วย” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว