อธิบดีสรรพากรชี้ถึงเวลา ‘สังคายนา’ หน่วยงานรัฐ

อธิบดีสรรพากรชี้ถึงเวลา ‘สังคายนา’ หน่วยงานรัฐ

อธิบดีกรมสรรพากรระบุ ถึงเวลา "สังคายนา" ระบบราชการไทย ชี้ระบบใหญ่ ทำให้การขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า แนะผ่าตัดระบบให้เล็กลง สร้างแรงจูงใจผ่านการออกกฎหมายปกป้องคนทำงาน และนำระบบดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวในหัวข้อ Thailand Future Forum 2021 ตอนที่ 2 สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย โดยเขากล่าวว่า อันดับแรกต้องตั้งโจทย์ให้ชัดว่าทำไมต้องมีรัฐ ถ้าโจทย์ไม่ชัด คิดว่า การจะหาว่า รัฐที่ดีเป็นอย่างไร ตอบยากเหมือนกัน และที่ผ่านมา การที่รัฐ เพราะมีกิจกรรมบางอย่างที่เอกชน อาจจะทำไม่ได้ หรือ ภาครัฐอาจต้องมีกฎกติกาบางอย่างเพื่อทำให้ระบบทำงานได้ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมา คือ รัฐทุกประเทศ รวมถึง ประเทศไทย มันใหญ่ขึ้นเรื่อย พอใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตนคิดว่า มีบางอย่างที่ทำโดยไม่จำเป็น

เมื่อรัฐทำโดยไม่จำเป็น ขณะที่ กิจกรรมบางอย่างเอกชนทำได้ กติกาบางอย่าง รัฐทำเพื่อให้เอกชนทำงานได้ รัฐกลับไปทำให้เอกชนทำงานยาก เพราะฉะนั้น ตนว่า จุดประสงค์หลักๆ รัฐจะต้องเล็ก ทำเฉพาะในสิ่งที่ควรทำ และให้เอกชนเข้ามาทำ โดยต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เอกชนเขาทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และ ตัวเองก็ทำให้เล็กและมีประสิทธิภาพที่สุด

“ถ้ารัฐมาทำเอง กลไกตลาดจะเปลี่ยน เพราะรัฐไม่มีคู่แข่ง เอกชนเมื่อมีคู่แข่ง จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ความเห็นส่วนตัว รัฐควรเป็นผู้อำนวยความสะดวกและทำในสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้”

ฉะนั้น ในความเป็นจริง สิ่งที่เจอ เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว รัฐก็ปรับตัวไม่ทันและช้า เมื่อจะทำอะไรก็จะติดกับดัก ยิ่งตอนนี้ โจทย์หนี้สาธารณะสูง และ งบประมาณก็จำกัด ฉะนั้น รัฐเองไปทำอะไรมากไม่ได้ จำนวนบุคลากรก็มาก งบประมาณก็ต้องใช้มากตามไปด้วย องค์กรต่างๆก็เพิ่มเรื่อยๆ แต่หน่วยราชการที่หายไปแทบไม่เคยเห็น ฉะนั้น รัฐก็จะใหญ่ขึ้น ปัญหาก็จะวนอยู่ในอ่าง

นอกจากนี้ การหาคนทำงานที่มีประสิทธิยากกลับมาน้อย เพราะเงินเดือนไม่จูงใจ ระบบจะเอื้อให้คนทำงานก็ไม่ดี กลายเป็นว่า เวลาจะถูกจัดสรรงบประมาณ ก็จะถูกจัดสรรด้วยงบที่จำกัด เวลาตนปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้อง บางคนได้หลักร้อยบาทเท่านั้น เพราะรัฐใหญ่และจัดตามโครงสร้าง ถ้ากองไหนมีคนอายุมาก ฐานเงินเดือนสูง ก็จะได้เงินเดือนมากหน่อย เป็นโลกของระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ความเห็นเบื้องต้น ถ้าทำได้ รัฐควรลดบทบาทและทำในสิ่งที่ควรทำ

แนวทางที่ควรทำ​ คือ​ ทำในสิ่งที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดให้การทำงานเป็นไปอย่างโปร่งใส และ มีประสิทธิภาพ โดยต้องเปลี่ยนแรงจูงใจให้มีคนกล้าทำงานและตัดสินใจในการปกป้องข้าราชการที่กล้าตัดสินใจบนข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่า จำเป็นมาก และ ควรออกกฎหมายบางอย่างที่ขึ้นมาปกป้องคนดีที่ต้องจัดการ ไม่เช่นนั้น ข้าราชกานจะไม่กล้าตัดสินใจและนำปัญหาไปไว้ในอนาคต เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ตนคิดว่า เราควรต้องร่วมมือกับเอกชน ภาครัฐจะทำโครงการดิจิทัลอะไรซักอย่างต้องใช้เวลาร่วม 3 ปี เมื่อถึงเวลาจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยีในขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้ข้าราชการไม่กล้าตรวจรับ เพราะผิดทีโออาร์ กฎหมายก็จะมีโทษอาญาอีก ฉะนั้น กรรมการตรวจรับจะหายากมากในระบบราชการ ฉะนั้น ข้าราชการจึงเคลื่อนช้ามาก เมื่อเราไม่มีระบบจัดการเรื่องเหล่านี้ คิดว่า ระบบราชการจะยิ่งไม่มีประสิทธิภาพ