'วัคซีนโควิด' ไม่หยุดที่สายพันธุ์'เดลตา'

'วัคซีนโควิด' ไม่หยุดที่สายพันธุ์'เดลตา'

นับแต่ที่ประเทศไทยรายงานพบผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)ครั้งแรกที่แคมป์คนงานหลักสี่ ผ่านมา1 เดือนเต็มพบผู้ติดเดลตาแล้ว 661ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นและจะเข้าแทนอัลฟาที่เป็นตัวหลักขณะนี้ ด้วยอำนาจการแพร่ที่มากกว่า1.4เท่า แน่นอนวัคซีนต้องปรับการฉีด!

ขณะที่วิวัฒนาการของไวรัสย่อมส่งผลต่อวัคซีนที่พัฒนาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม และประเทศไทยจะต้อง “ปรับแผนวัคซีนโควิด-19”แน่นอน

          ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ  เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสถือเป็นเรื่องปกติของไวรัสทุกตัว กรณีโรคโควิด-19ไวรัสเดิมที่จุติขึ้นมาจากประเทศจีน ยังไม่ได้ตั้งชื่อว่าอัลฟา เดลตา เบตา หรือแกมมา ยังเรียกเป็นสายพันนธุ์อู่ฮั่น จนมีการแพร่ออกนอกประเทศจีนมาประเทศไทยก็ยังเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น เมื่อไปแพร่ที่ยุโรปเป็นสายพันธุ์ G เริ่มประมาณเม.ย.-พ.ค.2563 เกิดขึ้นหลังสายพันธุ์อู่ฮั่นราว4- 5 เดือน  เนื่องจากสายพันธุ์ใดที่แพร่ได้เร็ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรุนแรง จะกระจายและกลบสายพันธุ์ดั้งเดิมไป จนสายพันธุ์Gครองโลก  เพราะแพร่ได้มากกว่า แต่ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยน ต่อมามีสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ)เริ่มราวต.ค.2563 และระบาดเต็มที่หลังปีใหม่ และก.พ.-มี.ค.มีการกระจายค่อนข้างมาก

กรณีประเทศไทยการระบาดระลอกเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมาเป็นสายพันธุ์ G และระลอกนี้เป็นสายพันธุ์อัลฟาเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งเมี่อเข้ามาแล้วแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์ ราว 1.7 เท่า ก็กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของการระบาด 96-98% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์ G ตามวัฏจักรจะอยู่ราว 4-5 เดือน  ขณะนี้เกิดมีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่าอัลฟาราว 1.4 เท่า เพราะฉะนั้น ต้องพยายามต่อสู้ควบคุมเดลตาให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์นี้

162435922412

 4-5 เดือนเดลตาระบาดในไทย

       “ถ้าตามวัฏจักรและพยากรณ์ออกไปข้างหน้าอีก 4-5 เดือน สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยก็จะค่อยๆเพิ่มเป็นสายพันธุ์เดลตามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วในที่สุดเดลตาก็จะกลบอัลฟาหมดไป และเมื่อหมดสายพันธุ์เดลตาแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกตามวัฏจักรในช่วง4-5เดือน และคงไม่สิ้นสุดที่สายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ว่าสายพันธุ์อัลฟา เดลตา เบตา ความรุนแรงโรคไม่ได้รุนแรงขึ้น” ศ.นพ.ยงกล่าว
       ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า  ในส่วนของประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกบริษัทในโลกนี้ พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น เมื่อวัคซีนมาเจอกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลงเป็นเรื่องธรรมดา จนกว่าจะพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 แบบปรับวัคซีนให้ล้ำหน้าขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

 วัคซีนตัวเดิมแต่ไวรัสเปลี่ยน

“ทั่วโลกในขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหาวัคซีนตัวเดิม แต่สายพันธุ์ไวรัสเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้นไปเรื่อยๆ ส่วนสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงวัคซีนและทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนน้อยที่สุด คือ เบตา(แอฟริกาใต้) ซึ่งทั่วโลกไม่ค่อยกลัว เพราะอำนาจในการแพร่กระจายของเบตาต่ำกว่าอัลฟา และเดลตา โอกาสที่เบตาจะมาครองโลกก็จะน้อยกว่ามากๆ”ศ.นพ.ยงกล่าว
162435924036

 ไทยต้องชะลอเดลตาระบาดให้ได้

          ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ในประเทศไทยต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลตาให้ได้ ต้องยกการ์ดให้สูง มีระเบียบวินัยป้องกันตนเองให้มากขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันหยุดยั้ง ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะโรงงาน แคมป์ ชุมชนต่างๆ และปูพรมวัคซีนที่มีให้ได้มากที่สุด  เพื่อคุมระบาดของอัลฟาที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 90 % ซึ่งประสิทธิภาพใช้ได้ดีอยู่ ส่วนเดลตาหากพบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องมีกลยุทธ์ปรับแผนการให้วัคซีน ซึ่งมหาวิทยาลัยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังศึกษาประสิทธิภาพวัคซีน การวัดระดับภูมิต้านทานหาว่าแค่ไหนถึงเพียงพอต่อสายพันธุ์เดลตา เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทยให้มากที่สุด

 ปรับกลยุทธ์วัคซีน

         หากต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น อาจต้องให้แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เร็วขึ้น หรือซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มเมื่อฉีด 2 เข็มแล้วอาจต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3  ทำให้ภูมิสูงขึ้น เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมิฯจะขึ้นสูงมากกว่า 10 เท่า เช่น วัคซีนตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เมื่อให้ 3 เข็ม ก็สูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า ซึ่งการกระตุ้นเข็ม 3 ของซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ก็ขึ้นไปสูง ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ซิโนแวคที่ 3 เดือน ,6 เดือน เชื่อว่าภูมิที่สูงขึ้นจะเกิน 10 เท่า แม้ให้ซิโนแวคตัวเดิมหรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าเซนเนก้า
         หรือการศึกษาเรื่องการฉีดสลับวัคซีน เช่น ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวคและเข็ม2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าก็พบว่าทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น แต่ขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องความปลอดภัย อาการข้างเคียง ระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งการสลับวัคซีนนี้มีการศึกษาในยุโรป เช่น อังกฤษ สเปน แคนาดา เป็นการสลับระหว่างวัคซีนmRNA  กับ ไวรัลแว็กเตอร์ ที่พบว่าสลับกันได้และภูมิขึ้นดีด้วย แต่อาการข้างเคียงในเข็ม 2 จะมากกว่า ส่วนการศึกษาในไทยที่กำลังทำอยู่เป็นการสลับระหว่างวัคซีนชนิดเชื้อตายกับไวรัลแว็กเตอร์ ที่ยังไม่มีการศึกษาในยุโรป ซึ่งการศึกษาทั้งหมดคาดว่าจะรู้ผลในอีก 1-2 เดือน เพื่อนำข้อมูลต่างๆมาสู่การปรับกลยุทธ์เกี่ยวกับวัคซีนให้ดีที่สุด 

        “ถ้าไทยชะลอการเพิ่มขึ้นของเดลตาให้อยู่ที่ 1-2 %ต่อสัปดาห์ พอถึงตอนที่มีสายพันธุ์เดลตาในไทยมากขึ้น ก็คงจะทันกับผลการศึกษาการให้วัคซีนในไทยที่ทำอยู่ตอนนี้” แต่ขอย้ำว่าแม้จะฉีดวัคซีนแล้วการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคยังต้องเคร่งครัดเหมือนเดิม” ศ.นพ.ยงกล่าว