“บิลล์ เกตส์ ” แนะ เอฟเอโอ ใช้เทคโนโลยีแก้ความหิวโหย พัฒนาเกษตร

“บิลล์ เกตส์ ” แนะ เอฟเอโอ ใช้เทคโนโลยีแก้ความหิวโหย พัฒนาเกษตร

ทูตเกษตร เผย บิลล์ เกตส์ แนะ เอฟเอโอ ใช้ระบบข้อมูลและเทคโนโลยี แก้ปัญหาความอดอยากหิวโหย พัฒนาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ขณะที่ประชุมเห็นชอบรับรองแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี พ.ศ. 2565-74 ฉบับใหม่

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร)สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ในฐานะ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำรายงานการประชุมสมัชชา FAO คณะกรรมาธิการคณะที่ 2 ว่า ที่ประชุมได้ มีการรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการคณะที่ 1 (Commission I) คือ

เห็นชอบรับรองแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี พ.ศ. 2565-74 (New Strategic Framework) ฉบับใหม่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ( FAO) ที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้าง 4 เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม ได้แก่ - ด้านการผลิตที่ดีกว่า (Better production : Prosperity) ด้านโภชนาการที่ดีกว่า (Better nutrition : Food) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า (Better environment : Planet) และ ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า (Better livelihoods : People)

เห็นชอบรับรองแผนงานและประมาณระยะ 2 ปี (2565-2566) ของ FAO รับทราบผลการดำเนินของคณะกรรมการวิชาการ (Technical Committee) เช่น คณะกรรมการด้านเกษตร (COAG) คณะกรรมการด้านประมง (COFI) คณะกรรมการด้านป่าไม้ (COFO) และคณะกรรมการด้านปัญหาสินค้าเกษตร (CCP)

มีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านปศุสัตว์ (Subcommittee on Livestock) เพิ่มขึ้น 1 คณะ ภายใต้คณะกรรมการด้านเกษตร เพื่อติดตามการทำงานด้านปศุสัตว์ ทั้งด้านการผลิตและสุขภาพสัตว์ของประเทศสมาชิกให้ดียิ่งขึ้น รับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) เพื่อขับเคลื่อนการนำนโยบายระดับโลก (Global policies) ที่สำคัญ คือ

นโยบายแนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ และ ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรมอื่นด้านการเกษตร ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ รวมทั้งการปรับสมดุลใหม่เพื่อไปสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems) และเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) ในเดือนก.ค.และ ก.ย. นี้

ในการประชุมสมัชชา FAO ครั้งนี้ นายบิลล์ เกตส์ ( Bill Gates ) นักธุรกิจชาวอเมริกัน และผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์พิเศษ ได้เน้นเรื่องการนำระบบข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหย (Ending hunger) และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และลดผลกระทบของระบบการผลิตอาหารและเกษตร ที่ส่งกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ของโลก โดยมูลนิธิ Gates Foundation ได้บริจาคเงิน จำนวน 10 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ FAO เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locust) ในทวีปแอฟริกาและเอเชียด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเลือกให้ประเทศไทยทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานการประชุมสมัชชา FAO คณะกรรมาธิการคณะที่ 2 พร้อมทั้งแต่งตั้งเป็นผู้แทน 1 ใน 6 ผู้แทนของภูมิภาคเอเชีย ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสภามนตรี (FAO Council Committee) และให้ไทยเป็นคณะกรรมการด้านงบประมาณการเงิน (Financial Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ จาก 7 ภูมิภาค โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี (2564-2566)

ถือว่าว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการเลือกให้ทำหน้าที่ในคณะกรรมการงบประมาณการเงิน ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาแผนการบริหารจัดการงบประมาณในการดำเนินงานของ FAO จำนวนกว่า 2,600 ล้านดอลลาร์ และ ติดตามการดำเนินงานงบประมาณของโครงการอาหารโลก (WFP) กว่า 7,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกุมหัวใจของการขับเคลื่อนองค์กรระหว่างประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและอาหารของประเทศสมาชิกกว่า 194 ประเทศทั่วโลก โดยคณะกรรมการด้านงบประมาณการเงิน จะเริ่มการประชุมสมัยแรกของปีงบประมาณใหม่ ในเดือนพ.ย. นี้