จากกรณี ‘ล่อซื้อน้ำส้ม’ ชวนรู้ ‘ล่อซื้อ’ vs ‘ล่อให้กระทำผิด’ ต่างกันอย่างไร?

จากกรณี ‘ล่อซื้อน้ำส้ม’ ชวนรู้ ‘ล่อซื้อ’ vs ‘ล่อให้กระทำผิด’ ต่างกันอย่างไร?

จากประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่สรรพสามิต “ล่อซื้อน้ำส้ม” ผู้ขายรายหนึ่งจนกลายเป็นประเด็นร้อน ชวนรู้ “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำผิด” ต่างกันที่ตรงไหน คดีแบบไหนที่ใช้วิธีนี้ได้ และเจ้าหน้าที่มีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบแค่ไหน?

จากกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตได้ทำการ “ล่อซื้อน้ำส้ม” จากผู้ขายรายหนึ่งจำนวน 500 ขวดที่เป็นประเด็นร้อนในสังคมช่วงนี้ หลายคนก็ได้ตั้งคำถามถึงว่า การกระทำการตรวจสอบเช่นนี้เป็นสิ่งที่พึงทำได้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร?

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พาไปดูว่า “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำผิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร, คดีแบบไหนที่ใช้วิธีแบบนี้ได้, และเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน มีอำนาจ-หน้าที่- ขอบเขต แค่ไหนในการทำสิ่งนี้?

ปัจจุบันหลายคดีมีความซับซ้อนในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาหลักฐานมาดำเนินคดีผู้กระทำผิด เจ้าพนักงานจึงต้องใช้เทคนิคในการพยายามแสวงหาหลักฐานความผิด โดยวิธีที่ใช้มักเรียกด้วยภาษาปากทั่วไปว่า “การล่อซื้อ” หรือ “การล่อให้กระทำความผิด” นั่นเอง

แต่ทั้งสองรูปแบบนี้มีความแตกต่างคั่นกลางที่ไม่เหมือนกันอยู่อย่างสิ้นเชิง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์สรุปรวบรวมเรื่องให้ไว้ให้เข้าใจอย่างง่ายๆ แล้ว

    

  • การล่อซื้อ

“การล่อซื้อ” สามารถทำได้กับบุคคลที่มีการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า “เป็นผู้กระทำผิด และมีความผิดก่อนอยู่แล้ว”

โดยหากต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ของทางรัฐต้องหาพยานหลักฐานมาเพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาล 

นอกจากนี้ การกระทำการสั่งซื้อหรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะ “การล่อซื้อ” เพื่อพิสูจน์หลักฐานว่า “ผู้กระทำผิด เคยทำความผิดมาก่อนจริงๆ” การกระทำต่างๆ เหล่านั้นของพยานถือเป็นสิ่งที่รับฟังได้ (ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแนวทางเพื่อรองรับในการดำเนินการ)

   

  • การล่อให้กระทำผิด

“การล่อให้กระทำผิด” ต้องมีลักษณะข้อเท็จจริงที่ “ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ไม่เคยกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาก่อน”

แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำกระทำสิ่งนั้นลงไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ-บุคคลที่อ้างอิงว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ได้ไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาตัดสินใจทำสิ่งที่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก 

หากข้อเท็จจริงมีความชัดเจนว่า ผู้กระทำไม่เคยกระทำการในลักษณะดังกล่าวมาก่อน กรณีนี้จึงเข้าข่าย “ล่อให้กระทำผิด” อย่างสมบูรณ์ 

   

  • ความแตกต่างระหว่าง “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำความผิด”

ความแตกต่างของ “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำความผิด” ทั้งสองรูปแบบนี้มีแตกต่างตรงที่ “เจตนากระทำความผิด” โดยสังเกตได้จาก “เจตนาแรก”

หากผู้ถูกกล่าวหามีเจตนากระทำความผิดก่อนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาทำผิดอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่ “ถูกโจทก์ล่อลวงให้กระทำความผิด” จะถือว่า “โจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด” 

ในกรณีนี้โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ถูกกล่าวหาได้แต่อย่างใด

162399526186

   

  • วิธีการ “ล่อซื้อ" ที่ใช้ในประเทศไทย

สำหรับกฎหมายในการใช้ “การล่อซื้อ" ในประเทศไทย ได้มีการยอมรับให้มีการปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่ "เฉพาะในคดียาเสพติดเท่านั้น" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดียาเสพติดรายใหญ่ และคดีสอบสวนพิเศษที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ส่วน คดีรูปแบบอื่นๆ” ทั่วไป ในการใช้วิธี “การล่อซื้อ” เป็นเพียงแค่ “แนวปฎิบัติ” ที่ทำต่อๆ กันมาเท่านั้น ไม่ได้มีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบรับรองแต่แต่อย่างใด (กรณีนี้เหมือนกับของต่างประเทศในหลายๆ ประเทศ)

   

  • 4 คดีไหนบ้างที่ใช้เทคนิค “การล่อซื้อ” ได้อย่างเป็นธรรม?

“การล่อซื้อ” เป็นหนึ่งในเทคนิคในการทำการสืบสวนคดี โดยมักทำกับกลุ่มคดี 4 ประเภทที่ยากต่อการเข้าถึงพยานหลักฐาน (ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง) ดังต่อไปนี้ 

1. กลุ่มคดีที่ไม่มีเอกชนเป็นผู้เสียหายโดยตรงแต่กระทบต่อรัฐ และผู้กระทำความผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย กับการกระทำความผิดต่างได้รับหรือเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

2. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ยากที่จะเข้าถึงการกระทำความผิด เนื่องจากผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายกับการกระทำความผิด ต่างได้รับหรือเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

3. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนรับรู้หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับ สมัครใจ มีผลประโยชน์ร่วมกันก็ตาม

4. กลุ่มคดีที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย แต่ยากที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งในการพิสูจน์ การกระทำความผิด โดยเฉพาะการระบุตัวผู้กระทำความผิด

162399530886

  • ขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ในการ “ล่อซื้อ” ของเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน?

เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วน-รวดเร็วขึ้น จึงมีบัญญัติอำนาจของพนักงานสอบสวนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้

1. ให้อำนาจเพื่อหาสิ่งของที่เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำผิด หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิดมาแล้ว ซึ่งอาจเป็นหลักฐานในคดีได้ โดยการปฏิบัติต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความทางอาญา มาตรา 132(2)

2. ให้อำนาจออกหมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของที่อาจเป็นพยานหลักฐานได้ โดยผู้โดนหมายเรียกอาจไม่จำเป็นต้องมาเอง แต่จัดส่งสิ่งของมาตามหมายที่เรียกได้ตามมาตรา 132(3)

3. ให้มีอำนาจในการยึดสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาตามมาตรา 132 (2) และ (3) โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กราตำรวจและกระทรวงมหาดไทยได้วางไว้ แต่ต้องเก็บรักษาสิ่งของนั้นตามระเบียบมาตรา 132 (4))

4. ให้มีอำนาจ หมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลที่อาจมีประโยชน์ต่อคดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย และให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้

5. ให้อำนาจในการจัดการผู้กระทำความผิดหรือเชื่อว่าได้กระทำผิด (จับ ควบคุม และปล่อยตัว)

6. ให้มีอำนาจ “สั่งมิให้บุคคลไปจากสถานที่” เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน

7. ให้มีอำนาจในการสอบสวน “ความเป็นมา ชีวิต ความประพฤติ ของผู้ต้องหา”

 

อ้างอิง:  วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2563)