อัพทักษะ 'ผู้สอนมือออาชีพ' พร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อัพทักษะ 'ผู้สอนมือออาชีพ' พร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ จัดฝึกอบรมทางไกลหลักสูตร พัฒนา 'ผู้สอนมืออาชีพ' กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสริมทักษะด้านการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 น.ส.สุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ (สพช.) กล่าวว่าสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดฝึกอบรมทางไกล (Online Training) หลักสูตร การพัฒนา 'ผู้สอนมืออาชีพ' (Professional Training of Trainer) ให้กับบุคลากรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้สอน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย จำนวน 53 คน

เพื่อเสริมทักษะด้านการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการ'ฝึกอบรมออนไลน์'ครั้งนี้ เป็นการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติ ภาคภาษาอังกฤษ (English Course) ซึ่งใช้กระบวนการฝึกอบรมรูปแบบทางไกล หรือ 'ฝึกอบรมออนไลน์' (Online Training)

  • เปิดรับสมัคร'ฝึกอบรมออนไลน์'ทาง 'สพช.'

ทั้งนี้ มีกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) จำนวน 3 ประเทศ ส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรม ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 16 คนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จำนวน 25 คน และประเทศไทย จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 53 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 14 – 18 มิถุนายน 2564 (30 ชั่วโมง) ส่งสัญญาณจากห้องปฏิบัติการ'ฝึกอบรมออนไลน์' สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ผอ.สพช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การ'ฝึกอบรมออนไลน์'หลักสูตร การพัฒนา 'ผู้สอนมืออาชีพ'เป็นความต้องการโดยตรงของทั้ง 3 ประเทศ ที่จะพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอาชีพผู้สอน ให้มีความรู้ ทักษะเพิ่มขึ้น ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานต้นสังกัดอย่างมีประสิทธิภาพ

ทาง 'สพช.' ได้ประสานงานและได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างดี ในส่วนของคนไทยที่สนใจสมัครเข้ารับการ'ฝึกอบรมออนไลน์'ในครั้งนี้ เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องด้านการสอนโดยตรง ทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน โดย 'สพช.' ได้มีการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัคร'ฝึกอบรมออนไลน์'ลงทางสื่อโซเชียลหลักของ 'สพช.' ทำให้มีคนไทยสนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้ด้วย จึงนับได้ว่าการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนรู้กระบวนการสอนของทั้ง 3 ประเทศ เป็นการสร้างผู้สอนมืออาชีพ และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน