5 ประเทศ ‘ผลตอบแทน’ สูงสุด ใน'กองทุน'หุ้นต่างประเทศ

5 ประเทศ ‘ผลตอบแทน’ สูงสุด ใน'กองทุน'หุ้นต่างประเทศ

เปิด 5 ประเทศ "ผลตอบแทน" สูงสุดของ"กองทุน" หุ้นต่างประเทศ "มอร์นิ่งสตาร์" เผยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ นำโดย "เวียดนาม" ผลตอบแทนสูงสุด 30.1% รองลงมา "อินเดีย" ผลตอบแทน 12.7% บลจ.ยูโอบี แนะ "หุ้นจีน-หุ้นญี่ปุ่น-หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่" น่าสนใจลงทุนในครึ่งปีหลัง

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศหลายกลุ่มยังปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง  ท่ามกลางความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นอันเนื่องมาจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น  

ทัั้งนี้ ข้อมูลจาก “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)”  พบว่า  5 อันดับกองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีผลตอบแทนสูงสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2564)  ดังนี้  

  1. กองทุนหุ้นเวียดนาม ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 30.1%  
  2. กองทุนหุ้นอินเดีย  ผลตอบแทนเฉลี่ยที่12.7%                                                                            
  3. กองทุนหุ้นสหรัฐ ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10.5%   
  4. กองหุ้นญี่ปุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.6% 
  5. กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.9% 

162343651790

สำหรับ “กองทุนหุ้นเวียดนาม” ที่ได้รับการพูดถึงกันค่อนข้างบ่อยตั้งแต่ปีที่แล้ว ถือว่า เป็นตลาดที่สร้างผลตอบแทนได้สูงมากตลาดหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ทำให้เป็นที่จับตามองว่าเวียดนามมีศักยภาพการเติบโตสูง ทั้งนี้หุ้นที่ขับเคลื่อนตลาดมีทั้งธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โดยในปีที่แล้วกองทุนหุ้นเวียดนามมีผลตอบแทนแฉลี่ย 15.9และสะสม 5 เดือนแรก 30.1% 

ด้าน “กองทุนหุ้นอินเดีย” ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 12.7% ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดในอินเดียยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจต้องระมัดระวังตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะสะท้อนภาพจริงในช่วงการระบาดรุนแรง 

ขณะที่ “กองทุนหุ้นสหรัฐ” มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมที่ 10.5%  กองหุ้นญี่ปุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.6% และ กองทุนหุ้นจีน” เฉลี่ยที่ 3.9ซึ่งชะลอลงจากปีที่แล้วอย่างชัดเจน เห็นได้จากผลตอบแทนติดลบในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้  

ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)แนะว่า  การลงทุนกองทุนต่างประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในแต่ละตลาดก็มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาแตกต่างกัน เช่นจีนและสหรัฐฯ อาจต้องจับตาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนี้   

ดังนั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตการลงทุนตามสัดส่วนที่เหมาะสม และคำนึงถึงมูลค่าการลงทุนมากกว่าทิศทางตลาดที่อาจไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งหมด 

"จิติพล  พฤกษาเมธานันท์"  นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า ผลตอบแทนการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีมานี้ พบว่า “หุ้นขนาดเล็กในสหรัฐ” ให้ผลตอบแทนดีที่สุดบวก 15.4% ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ และภาพรวมเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วงการเติบโตใหม่ 

อันดับสอง คือ “หุ้นยุโรป” ผลตอบแทน 12.9% ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน โดยตลาดย้ายจากการถือหุ้นเติบโตสูง (Growth) กลุ่มเทคโนโลยี มาเป็นหุ้นมูลค่า (Value) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมองว่าระดับราคาของหุ้น Growth แพงเกินไป ในขณะที่เป็นช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจรอบใหม่จึงน่าจะเห็นทุกบริษัทสร้างการเติบโตได้ดีไม่แพ้กลุ่มเทคโนโลยี 

อับดับสาม คือ “หุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐ” วัดจากดัชนี S&P 500 ผลตอบแทน 11.6% ได้รับผลบวกจากนโยบายฟื้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น สหรัฐฯ ถือว่าจัดการกับการระบาดของไวรัสได้ดี และเปิดประเทศได้เร็วที่สุดในกลุ่ม Developed Markets 

อันดับสี่ คือ “Emerging Markets”  ไม่รวมจีน ฟื้นตัว 11.2% จากหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) กลุ่มอุตสาหกรรมในไต้หวันและเกาหลีใต้  

และอันดับห้า “หุ้นญี่ปุ่น” วัดจากดัชนี TOPIX บวก 8.5% ฟื้นตัวขึ้นจากหุ้นกลุ่ม Cyclical กลุ่มอุจสาหกรรมเช่นกัน 

แนวโน้มครึ่งปีหลังของปีนี้   "จิติพล" เชื่อว่า จะลงทุนยากขึ้นเนื่องจากไม่ได้มีข่าวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาก และเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกฟื้นแล้ว ก็อาจถูกกดดันจากมุมมองนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นตามด้วย 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่ดีขึ้นคือเรื่องการรับมือกับไวรัสและโอกาสการลงทุนระยะยาว เชื่อว่าหลายเศรษฐกิจเริ่มเห็นโอกาสจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีต 

แนะนำว่า การลงทุนช่วงครึ่งหลังปีนี้ ที่ไม่ต่างจากเดิม คือต้องทยอยลดการลงทุนกลุ่มผันผวนสูงและบอนด์ลง เพราะเชื่อว่าจะถูกกดดันจากแนวโน้มยีลด์ขาขึ้นต่อ  

ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจคือ “หุ้นขนาดกลางในจีน" คาดจะฟื้นตัวกลับไปเป็นบวกได้หลังปรับฐานแรงในช่วงต้นปี สองคือ “หุ้นญี่ปุ่น”  มองว่ามีโอกาสกลับมาได้หลังประเด็นจบโอลิมปิก ไม่ว่าจะแข่งขันได้หรือไม่ เพราะความไม่แน่นอนจะหายไป และสาม คือ “กลุ่ม Emerging Markets”  เช่นคาดว่านักลงทุนจะกลับมาสนใจเมื่อประเทศใหญ่รับวัคซีนไปหมดแล้ว 

 ผลตอบแทน5 เดือนแรกของปี 2564 ในตลาดหุ้นต่างประเทศ

ดัชนี                       การเปลี่ยนแปลง YTD (%) 

Russell 2000              15.4134 

STOXX 600                12.9715 

S&P 500                    11.6286 

MSCI EMxC                11.1984 

TOPIX                         8.5616 

MSCI AxJ                    6.0005 

NASDAQ                     5.6348 

CSI 300                      1.2007