'กรมปศุสัตว์' คุม 'ลัมปี สกิน' ไม่อยู่ ลามกว่า 47 จังหวัด เร่งนำเข้าวัคซีน

'กรมปศุสัตว์' คุม 'ลัมปี สกิน' ไม่อยู่ ลามกว่า 47 จังหวัด เร่งนำเข้าวัคซีน

"กรมปศุสัตว์" คุม "ลัมปี สกิน" ไม่อยู่ ลามกว่า 47 จังหวัด เร่งนำเข้าวัคซีนป้องกัน เข้มห้ามเคลื่อนย้าย

ถือว่าระบาดหนักและกระจายอย่างรวดเร็วสำหรับโรคลัมปี สกินในโคและกระบือ ที่ลุกลามไปแล้วกว่า 47 จังหวัด กรมปศุสัตว์เร่งนำเข้าวัคซีนพร้อมพัฒนาผลิตใช้เอง เนื่องจากคาดว่าโรคนี้จะอยู่กับไทยอีกนานพอสมควร

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนัก​​ควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้การระบาดของโรคลัมปี สกิน กระจายไปทั่ว 47 จังหวัดแล้ว มีโคและกระบือ ป่วยสะสมรวม 51,222 ตัว จากประชากรโคกระบือรวมทั้งหมด 6 ล้านตัวทั่วประเทศ ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างการกักตัว มี 3 หมื่นตัวเป็นโคนม 700 ตัว กระบือ 120 ตัว ที่เหลือเป็นโค และเสียชีวิต 886 ตัว ซึ่งอัตราการเสียชีวิตยังไม่ถึง 1 % 

แต่โอกาสการกระจายของเชื้อมีสูง โดยมีแมลงเป็นพาหะ ประกอบกับโรคดังกล่าวยังไม่มียารักษาเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส แม้ว่ากรมปศุสัตว์จะนำเข้ามาวัคซีนเข้ามา 6 หมื่นโดส แต่เป็นการวัคซีนเพื่อป้องกันเท่านั้น ซึ่งจะใช้เริ่มฉีดในพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด และพื้นที่ระบาดหายแล้วก่อน รวมทั้งบริเวณโดยรอบรัศมี 5-20 กิโลเมตร(กม.) หลังจากนั้นจะกระจายรัศมีเป็น 50 กม. โดยรอบต่อไป

ในพื้นที่เหล่านี้เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น กรมปศุสัตว์จะขอความร่วมมือเพื่อทำลายและจ่ายเงินชดเชย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 รายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ คือ

อายุน้อยกว่า 6 เดือน โค 6,000 บาท กระบือ 8,000 บาท อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี โค 12,000 บาท กระบือ 14,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี โค 16,000 บาท กระบือ 8,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปี โค 20,000 บาท กระบือ 22,000 บาท

ส่วนโคที่ป่วยอยู่นั้นจะใช้วิธีการกักตัว ห้ามเคลื่อนย้าย ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดทางกฎหมาย และใช้ยารักษาตามอาการ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อบรมเกษตรกร พร้อมทั้งสาธิตวิธีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง โดยเกษตรกรต้องดำเนินการอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์

"เนื่องจากแมลงเป็นพาหะของโรคนี้ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีแมลงในฟาร์ม บางรายอาจต้องกางมุ้ง แต่การใช้วัคซีนในตลาดตอนนี้ซึ่งเป็นวัคซีนเถื่อนนั้น ผมไม่แนะนำ ไม่รู้ว่าประสิทธิภาพจะดีหรือไม่ เกษตรกรที่ต้องการขอให้ประสานมาที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีแผนนำเข้ามาเพิ่มอีก 3 แสนโดส ซึ่งมีอุปสรรคจากการโรคโควิดระบาด ทำให้การขนส่งยุ่งยาก"

ทั้งนี้การผลิตวัคซีนในประเทศ กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยวัคซีนที่ทำจากพืช หรือ  plant based vaccine ร่วมกับ บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ภายใน 2 เดือน และถ้าได้ผลดีจะทำให้โรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืช

"โรคดังกล่าวมีต้นกำเนิดที่แอฟริกาทันทีองค์การโรคระบาดสัตว์ หรือ OIE ประกาศว่ามีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์ประกาศปิดด่านนำเข้าชายแดนทันทีแต่ไม่มีอำนาจปิดตลาดนัดทำให้เกิดการลักลอบและตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค. ที่ จ.ร้อยเอ็ด ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เรื่องห้ามเคลื่อนย้ายโคกระบือจนกว่าจะสามารถควบคุมโรคลัมปีสกินได้"

162337630330

อย่างไรก็ตามในส่วนของเนื้อสัตว์ และนมในตลาดขณะนี้ ยังสามารถรับประทานได้ปกติ โดยกรมปศุสัตว์จะตรวจสอบมาตรฐานตามโรงเชือดและศูนย์รวบรวมนม หากพบมีการปนเปื้อน หรือไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดจะไม่อนุญาตให้วางจำหน่ายได้

นายสัตวแพทย์ สถาพร จิตตปาลพงศ์ คณบดีคณะเทคนิคสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ลัมปีสกิน มีอัตราการติดสูงแต่ตายต่ำ ระยะฝักตัว 4 -7 วัน และใช้เวลา 28 วันในการแสดงของโรคที่ชัดเจน ดังนั้นเกษตรกรอย่านิ่งนอนใจว่าโคที่เลี้ยงอยู่จะไม่มีการติดเชื้อ โดยเกษตรกรต้องเข้าใจและระมัดระวัง ถ้าพบก้อนขึ้นตามตัว ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่

ซึ่งก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากแมลงที่เข้าไปกัดทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นวิธีการควบคุมโรคนี้ได้ดีที่สุดคือ ป้องกันแมลงที่เป็นพาหะ แต่โรคนี้จะหายได้จากการสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้นสัตว์อายุน้อยมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสตายสูง การรักษาสามารถทำได้ตามอาการเท่านั้น โดยใช้ยาม่วง ทิงเจอร์ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่จะเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร เพราะการระบาดกว่าครึ่งประเทศไปแล้วและคาดว่าโรคนี้จะอยู่กับไทยไปนานพอสมควร เพราะไทยมีพาหะที่สมบูรณ์ หลากหลายชนิด เช่น แมลงวันคอก ยุง เหลือบ ริ้น เป็นต้น

จาการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อลัมปี สกิน ยังสะสมในเห็บ ซึ่งเห็บสามารถถ่ายทอดเชื้อผ่านไข่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเห็บชนิดใด ทุกตัวหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องระวัง รวมทั้งสัตว์ที่ใช้วัคซีน ไม่ควรส่งเนื้อหรือนมไปขายเพราะมีโอกาสปนเปื้อนได้