วัคซีนการค้า การเมือง การทูต?

วัคซีนการค้า การเมือง การทูต?

วิกฤติโควิด-19 ได้กระจายไปทั่วโลก และยังคงมีการแพร่ระบาดรุนแรงในหลายประเทศ ทางออกสำคัญคือ "วัคซีนโควิด" ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน วันนี้จึงเห็นความเคลื่อนไหวของความช่วยเหลือจากประเทศผู้ผลิตวัคซีนที่ออกมาช่วยเหลือประเทศอื่นๆ

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ วันที่ 3 มิ.ย.2564 สหรัฐแถลงข่าวบริจาคด่วนวัคซีนงวดแรก 25 ล้านโดส ซึ่งเป็นส่วนเกินความจำเป็นต้องใช้ในประเทศ (อเมริกาฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 300 ล้านโดส) เพื่อช่วยเหลือชาวโลกโดยผ่านองค์กรเฉพาะกิจ COVAX ของสหประชาชาติ ซึ่งองค์กรนี้แจกจ่ายวัคซีนไปช่วยเหลือประเทศที่ขาดทรัพยากรแล้วประมาณ 79 ล้านโดส

การติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการกลายพันธุ์ต่างๆ ทำให้หลายกลุ่มเพิ่มความกดดันประเทศที่ร่ำรวย โดยเฉพาะสหรัฐ ให้รีบลงมือช่วยเหลือ จึงมีการประกาศปล่อย 80 ล้านโดส ออกไปภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ซึ่งประมาณ 75% (19 ล้านโดส) จะใช้ขั้นตอนการจ่ายขององค์กร COVAX

วัคซีนที่ส่งผ่าน COVAX ถึงแม้รัฐบาลอเมริกันจะสงวนสิทธิ์ว่าจะส่งไปที่ไหน แต่ก็พยายามระมัดระวังไม่ไปก้าวก่าย และได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีเงื่อนไขขออะไรแลกเปลี่ยน คล้ายกลับเป็นการส่งสัญญาณกระทบกับคำกล่าวหาว่าจีนและรัสเซียใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

วัคซีน 25% ของงวดแรก (6 ล้านใน 25 ล้านโดสนั้น) จะใช้กับประเทศพันธมิตรโดยตรงโดยไม่ผ่าน COVAX คาดว่าส่วนนี้จะใช้ตามเงื่อนไขเรื่องความมั่นคงทางการทหาร และกับหน่วยฉุกเฉินของสหประชาชาติ

COVAX เป็นการทำงานเฉพาะกิจภายใต้องค์กรอนามัยโลก และมีสมาชิกประมาณ 165 ประเทศ มีจุดประสงค์ในการจัดแบ่งปันวัคซีนโดยความยุติธรรม โดยหลักการให้ประเทศที่มีทรัพยากรสูงกว่าช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลน เพราะหากการระบาดของ โควิด-19 ไม่ประสานงานกันทั่วโลกปัญหาก็จะไม่สิ้นสุด

ความจำเป็นของวัคซีนซึ่งหากจะหยุดยั้งการระบาดได้อย่างจริงจังจะต้องมีการผลิตและแจกจ่ายถึงประมาณกว่า 11,000 ล้านโดสต่อปี แต่ปัจจุบันการฉีดวัคซีนแล้ว (79 ล้าน) ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมากกับความต้องการจริง

WHO อนุมัติเป็นการฉุกเฉินวัคซีน AstraZeneca, Pfizer-BioNtech, Moderna, Sinopharm, Sinovac และ Johnson & Johnson

อินเดีย (ฉีดวัคซีนในประเทศแล้วประมาณ 215 ล้านโดส) เป็นประเทศที่เดิมทีเป็นความหวังหลักในการผลิตวัคซีนส่งออกประมาณ 700 ล้านโดสภายในปีนี้ แต่ต้องระงับการส่งออกเนื่องจากปัญหาสุดวิสัยในประเทศ จึงทำให้เกิดการเร่งเพิ่มบทบาทของจีน อเมริกาและยุโรป หาทางช่วยเหลือทางการเงินและการบริจาควัคซีน

อเมริกาเปลี่ยนบทบาทจากรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งมีข้อบาดหมางกับองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งรวมทั้ง WHO เข้ามาอุ้มชูองค์การอนามัยโลกหลังจากประธานาธิบดี Biden ชนะการเลือกตั้ง และกลายเป็นผู้บริจาคใหญ่ที่สุด โดยสัญญาจะให้เงินกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์

จีนประกาศจะช่วย COVAX 2,000 ล้านดอลลาร์ ฉีดยาสองยี่ห้อที่ผลิตในจีนให้ประชากรตนเองแล้วประมาณ 625 ล้านโดสและแจกจ่ายวัคซีนปัจจุบันประมาณวันละ 19 ล้านโดส (ชาวปักกิ่ง 87% ได้รับแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม) ชาวจีนหลายคนยังรอรับวัคซีนอยู่ แต่รัฐบาลจีนตัดสินใจส่งวัคซีนส่วนหนึ่งออกไปช่วยต่างประเทศ

ผู้ผลิตยาภาคเอกชนและที่มีรัฐเป็นหุ้นส่วนด้วย ก็มีการตั้งเป้าหมายรายได้จำนวนมหาศาลในระยะสั้น และมีการคาดคะเนว่าจะกอบโกยกำไรได้อีกหลายปี ปีที่แล้วมีการถกเถียงเรื่องราคาและความยุติธรรมในการขายต่อประเทศที่มีฐานะต่างกันจึงทำให้มีการออกมาแถลงข่าวเปลี่ยนราคาอยู่เป็นระยะ เช่นเดิมทีบริษัทไฟเซอร์เคยประเมินว่าอยากจะขายในราคาต่อหน่วยประมาณ 100 ดอลลาร์แต่ลดลงมาเหลือ 69 ดอลลาร์, 39 ดอลลาร์, และปัจจุบันประเทศที่ร่ำรวยก็จ่ายประมาณ 19.50 ดอลลาร์ต่อโดส ประเทศที่ฐานะการเงินลดหลั่นลงมาก็จ่ายตามสัดส่วน กรณีของไทยหากซื้อไฟเซอร์ก็คงจะได้ราคาประมาณ 10 ดอลลาร์ ถึง 12 ต่อโดส

แต่ราคาของทุกยี่ห้อก็ต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน มีการประเมินว่าเมื่อความตื่นตระหนกของสถานการณ์ลดลงราคาวัคซีนอาจจะลดลงเหลือประมาณ 7 ดอลลาร์ต่อโดส เพราะมีการผลิตออกมามาก และการพัฒนาวัคซีนแบบใหม่และสะดวกขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ระบบทุนนิยมของประเทศตะวันตกกำลังโดนทดสอบด้วยพลังของชาวโลก ซึ่งมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูล นวัตกรรมในการสื่อสารข้ามพรมแดน ทำให้เกิดความกดดันหลายอย่าง รวมทั้งการที่ผู้นำอเมริกาออกมาประกาศว่าอาจผลักดันยกเว้นชั่วคราวเรื่องสิทธิบัตรทางปัญญา

ซึ่งจะทำให้หลายประเทศที่ไม่มีโอกาสผิดวัคซีนจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็มีการออกมาคัดค้านจากบริษัทผู้ผลิตยาเอกชนและผู้นำทางการเมืองซึ่งอาจพิจารณาว่าประเทศตนเองจะเสียประโยชน์ เรื่องนี้ยังมีทางเป็นไปได้ หากการแบ่งปันวัคซีนติดขัดเช่นปัจจุบัน และการระบาดเพิ่มขึ้น

ความหวังของประเทศไทยที่จะพึ่งตนเองได้อยู่ที่วัคซีนสองกลุ่ม คือ AstraZeneca ซึ่งเป็นการผลิตในประเทศโดย Siam Bioscience โดยความร่วมมือกับอังกฤษ และ Chula Cov-19 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียสหรัฐอเมริกา เข้าใจว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเป็นทางเลือกในประเทศสำหรับชาวไทย และจะมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์และอาการแพ้ต่างๆ ที่สำคัญคือต้นทุนในการผลิตที่เหมาะสมต่อการพึ่งตนเอง

การจัดแบ่งวัคซีนขององค์กรแห่งสหประชาชาตินั้น โดยทฤษฎีแล้วควรเป็นการจัดตามจำนวนของประชากรตามประเทศต่างๆ และประเทศยากจนมากก็ควรจะได้รับความช่วยเหลือฟรี แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะสังเกตได้ว่าประเทศที่มีความพร้อมในการรับวัคซีนและไปบริการฉีดอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีระบบการบริหารสาธารณสุขที่ดี จะทำให้วัคซีนที่มีคุณค่ามากเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ผมหวังอย่างยิ่งว่าภาคเอกชนและภาครัฐทั่วโลก จะสามารถหาวิธีร่วมมือกันเสียสละเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้เราทำทุกวิถีทางร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในการชะลอความเสียหาย และจะได้ตั้งตัววางแผนในการรับศึกใหญ่ข้างหน้า ซึ่งคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากการดำรงชีวิตแบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

ผู้ที่หวังประโยชน์ระยะสั้นและมองหาเพียงแค่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรืออิทธิพลทางการเมืองก็จะโดนผู้บริโภคตรวจสอบเราเป็นพี่น้องร่วมโลกด้วยกัน ทุกข์สุขเราแบ่งปันกัน

ชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาซึ่งผมเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มอาสาสมัคร กำลังผลักดันนโยบายให้อเมริกาเป็นผู้นำโลกแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยด่วน เราอดทนต่อไปและช่วยกันภาวนาครับ