หนังเล่าโลก Mary, Queen of Scots ทวงแค้นราชินี

หนังเล่าโลก Mary, Queen of Scots   ทวงแค้นราชินี

ชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์บอกเล่าการเชือดเฉือนชิงบัลลังก์ระหว่างสองราชินี ที่ผู้ชนะมีได้เพียงหนึ่งเดียว

สองปีก่อนผู้เขียนได้อ่านนวนิยายแปลอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “ทวงแค้นราชินี” (The Memoirs of Mary Queen of Scots) ผลงานของ แครอลลี่ เอริคสัน แปลโดย วรสิริยุตต์ นับว่าเป็นนิยายที่สนุก ช่วยให้เห็นภาพประวัติศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีก่อนแบบเข้าใจง่าย ต่อมาเมื่อได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง Mary, Queen of Scots ทางช่องเน็ตฟลิกซ์จึงพลาดไม่ได้ แม้ภาพยนตร์ฉายมาแล้วหลายปีแต่ก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ไม่เคยล้าสมัย 

Mary, Queen of Scots ภาพยนตร์เมื่อปี 2561 ผลงานการกำกับของ Josie Rourke บอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตของควีนแมรี หรือ แมรี สจ๊วต พระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ ที่พูดแบบไทยๆ ก็คือทรงอาภัพตั้งแต่วัยเยาว์ ประสูติได้เพียง 6 วัน พระราชบิดาสวรรคต เจ้าหญิงน้อยแมรีกลายเป็นพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ทันที ครั้นพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงย้ายไปประทับในราชสำนักฝรั่งเศส ภายใต้การดูแลของกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ทรงหมั้นหมายกับเจ้าชายฟรานซิสที่ 2 ที่ต่อมาเป็นกษัตริย์ฟรานซิส เจ้าหญิงแมรีกลายเป็นราชินีฝรั่งเศสเมื่อพระชนมายุเพียง 16 พรรษา แต่ต้องทรงเป็นม่ายในวัย 18 พรรษา 

ควีนแมรีเสด็จนิวัติมาตุภูมิสกอตแลนด์ ที่ขณะนั้นทั้งสกอตแลนด์และอังกฤษต่างอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 พระญาติใกล้ชิดของพระองค์เอง ซึ่งควีนเอลิซาเบธที่ 1 นั้นทรงเป็นราชินีแห่งพรหมจรรย์ มิได้อภิเษกสมรสกับผู้ใด (แต่ก็แอบมีคนรู้ใจอยู่) ไร้องค์รัชทายาท ควีนแมรีจึงถือเป็นรัชทายาทอันดับ 1 ในบัลลังก์อังกฤษ แถมชาวคาธอลิกหลายคนมองว่า ควีนแมรีสมควรเป็นพระราชินีอังกฤษ ารเสด็จกลับสกอตแลนด์จึงเป็นการท้าทายพระราชอำนาจของควีนเอลิซาเบธที่ 1 โดยตรง  เท่ากับว่าสองหญิงต้องช่วงชิงบัลลังก์กันอย่างดุเดือด 

การจะครองตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษนั้นแน่นอนว่าต้องมีกองกำลังสนับสนุน ซึ่งควีนแมรีขาดส่วนนี้ไปเพราะใช้ช่ีวิตในต่างแดนอยู่นาน เทียบไม่ได้กับควีนเอลิซาเบธที่ 1 ที่ทรงครองอำนาจมาก่อนแล้ว สิ่งที่ควีนแมรีต้องทำคืออภิเษกสมรสใหม่และมีทายาท ขณะที่ควีนเอลิซาเบธอยู่ในวัยที่ไม่สามารถมีลูกได้แล้ว ควีนแมรีจึงดูเหมือนอยู่ในสถานะ “เป็นต่อ” อย่างไรก็ตาม คนดูผู้หญิงอาจจะหงุดหงิดกับเงื่อนไขนี้ที่ดูเหมือนธรรมชาติไม่ยุติธรรมกับพวกเรา  

การขับเคี่ยวชิงอำนาจระหว่างสองหญิงมีมาโดยตลอด จนกระทั่งควีนเอลิซาเบธที่ 1 พบแผนลอบสังหารพระองค์ที่ควีนแมรีเข้าไปมีส่วนพัวพันด้วย ชีวิตผันผวนของควีนแมรีจึงจบลงด้วยการถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 8 ก.พ. พ.ศ.2130 และเมื่อควีนเอลิซาเบธที่ 1 สวรรคตใน พ.ศ.2146 คิงเจมส์พระราชโอรสของควีนแมรี เป็นผู้สืบทอดบัลลังก์อังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ต่อไป 

การ “ทวงแค้นราชินี” สิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตพลิกผันขึ้นๆ ลงๆ ของควีนแมรี แต่เรื่องราวระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์นั้นยังไม่จบ โดยเฉพาะเรื่องการแยกเอกราช เมื่อปี 2557 เคยมีการลงประชามติให้ชาวสกอตได้ตัดสินใจว่า จะอยู่ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ต่อไปหรือแยกตัวเป็นเอกราช ผลปรากฏว่า ชาวสกอต 55% เลือกที่จะอยู่ร่วมกับยูเค แต่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ  เมื่อวันที่ 6 พ.ค. พรรคแห่งชาติสกอต (เอสเอ็นพี) ของนายกรัฐมนตรีหญิง นิโคลา สเตอร์เจียน คว้าชัยชนะในสภาสกอตแลนด์ จุดกระแสเรียกร้องการจัดลงประชามติชาวสกอตเรื่องแยกเอกราชจากสหราชอาณาจักรรอบที่ 2 จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บางครั้งการ “ทวงแค้นราชินี” อาจวนลูปมาใหม่ในรูปของผู้แทนประชาชนผ่านการเลือกตั้งก็ได้