‘กาฬสินธุ์’ เตรียมประกาศเขตประสบภัยโรคระบาดสัตว์ 'ลัมปีสกิน'

‘กาฬสินธุ์’ เตรียมประกาศเขตประสบภัยโรคระบาดสัตว์ 'ลัมปีสกิน'

“กาฬสินธุ์” เตรียมประกาศเป็นเขตประสบพิบัติภัยโรคระบาดสัตว์ “ลัมปีสกิน” เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หลังพบโค-กระบือ ป่วย และตายจำนวนมาก พร้อมเตรียมฉีดวัคซีนทันทีหากได้รับการจัดสรร ย้ำเนื้อโคที่ผ่านโรงฆ่าสัตว์ปลอดภัย บริโภคได้

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์  นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนสำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกัน เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ในโค และกระบือในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมร่วมกันหารือระเบียบในการประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติโรคระบาดสัตว์ และวางแนวทางในช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยและเยียวยาที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ที่สัตว์ป่วยและตาย

162245127855

นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดทั้ง 18 อำเภอทั้งจังหวัด โดยล่าสุดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ - วันที่ 29 พฤษภาคม 2564  เบื้องต้นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มีสัตว์ป่วยสะสม 9,994 ตัว แบ่งเป็นโค เนื้อ 9,978 ตัว โคนม 6 ตัว กระบือ 10 ตัว สัตว์ตาย 338 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบ 5,586 ราย และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการให้ปศุสัตว์แต่ละอำเภอลงพื้นที่สำรวจ และรายงานเข้ามา เพื่อที่จะสรุปข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้งโดยเฉพาะจำนวนสัตว์ที่ป่วยหรือเสียชีวิต

162245129662

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการต่างๆที่จะช่วยเหลือ ชดเชย และเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือที่ได้รับผลกระทบ สัตว์ป่วยและตายนั้น เริ่มแรกได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศให้เป็นเขตโรคระบาดในสัตว์ชนิดโรคลัมปี สกิน ประเภทโค กระบือ พร้อมสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกหรือนำเข้ามาในจังหวัด ให้สัตว์อยู่กับที่ และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม เนื่องจากตัวสัตว์เป็นพาหะนำโรค โดยมีสาเหตุจากแมลงต่างๆที่ดูดเลือด ทั้ง เหลือบ เห็บ หมัด แมลงวันคอก โดยเฉพาะยุงลายที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งควบคุมค่อนข้างยาก โดยวิธีการป้องกันตามหลักการแล้วจะต้องไม่ให้สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคอยู่ร่วมกับสัตว์ปกติ ควรแยกออกจากกัน ใช้ยาทาตามตัว ซึ่งทางปศุสัตว์ได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกฉีดพ่นยาป้องกันไม่ให้แมลงหรือยุงกัดหลายพื้นที่แล้ว

162245129660

นายสุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งหารือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะประกาศให้พื้นที่กาฬสินธุ์เป็นเขตประสบภัยพิบัติโรคระบาดสัตว์ และหาแนวทางชดเชย เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สำหรับวัคซีนนั้น ขณะนี้ทราบว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับวัคซีนมาแล้ว 60,000 โดส แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็น สามารถก่อโรคได้ หากใช้ไม่ดี หรือถูกต้อง ซึ่งจะต้องรอให้ผ่านอย.และรอคณะกรรมการการจัดสรรวัคซีนของกรมฯ ทั้งนี้หากผ่านกระบวนการขั้นตอนดังกล่าว และได้รับการจัดสรรแล้วก็สามารถดำเนินการฉีดช่วยเหลือเกษตรกรได้เลย เบื้องต้นคาดว่าน่าจะประมาณสัปดาห์หน้า นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการนำเข้าอีก 300,000 โดส เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

162245129922

 

นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำว่าสัตว์ที่เป็นโรคนี้ แม้ดูจากภายนอกแล้วจะน่ากลัว เพราะเป็นตุ่ม เป็นแผล ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหาย เนื้อกินได้ และไม่ติดคน เป็นเฉพาะในโค กระบือเท่านั้น และที่สำคัญเนื้อโคทุกตัวที่จะเข้าโรงฆ่าสัตว์นั้นจะต้องได้รับการตรวจโรคและสุขภาพ เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าเนื้อปลอดภัยบริโภคได้ และอยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรหากพบว่าโค กระบือของตัวเองเริ่มป่วย โดยมีอาการซึม ไม่ค่อยกินหญ้า ควรรีบแยกตัวออกจากฝูง หากเป็นไปได้ให้กางมุ้ง เพื่อที่จะไปเป็นพาหนะไปยังตัวอื่น และใช้ยาทาป้องกันทุกตัว

162245129988

162245129687

162245129855