ผู้หญิงต้องรู้!! ก่อน'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ควรหยุด'ยาคุมกำเนิด'หรือไม่?

ผู้หญิงต้องรู้!! ก่อน'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ควรหยุด'ยาคุมกำเนิด'หรือไม่?

ใกล้วันที่ทุกคนจะได้ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งในการฉีดวัคซีนครั้งนี้ มีข้อแนะนำมากมาย การเตรียมพร้อมทั้งก่อนและหลักฉีดวัคซีน ซึ่งการหยุด'ยาคุมกำเนิด' เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงเกิดข้อสงสัยว่าควรหยุดหรือไม่?

อย่างที่ทราบกันดีว่าเรื่องของการ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' มีหลากหลายคำถามที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากเป็นวัคซีนตัวใหม่ที่ใช้ในการป้องกันโรคได้แล้ว ยังมีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ให้เห็น และถ้าคนๆ หนึ่งมีโรคประจำตัว หรือต้องกินยาเป็นประจำ ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ว่าควรปฎิบัติตัว เตรียมพร้อมตัวเองเช่นใด?
  • 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' กับเรื่องของ 'ฮอร์โมนเพศหญิง' และ'ยาคุมกำเนิด'
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan  เกี่ยวกับ'โควิด-19' วัคซีน เรื่องของ'ฮอร์โมนเพศหญิง' 'ยาคุมกำเนิด' และ'สตรีตั้งครรภ์' ระบุว่า 
ข้อมูลที่ให้ จะตามหลักวิชาการ รายละเอียดต่างๆ คงต้องรอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงให้คำแนะนำ
ในเพศหญิงที่มี 'ฮอร์โมนเพศหญิง' หรือใน 'ยาคุมกำเนิด' และใน'สตรีตั้งครรภ์' จะมี'ฮอร์โมนเพศหญิง'สูงอยู่แล้ว และเป็นที่ทราบดีว่า เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ในเส้นเลือดดำใหญ่ได้ (deep vein thrombosis, DVT)
  • ไขข้อข้องใจ 'วัคซีนโควิด-19' ควรหยุด 'ยาคุมกำเนิด'หรือไม่?
อุบัติการณ์ดังกล่าวในคนเอเชีย เกิดได้น้อยกว่าฝรั่ง และชาวแอฟริกาอย่างมาก เวลาเรานั่งเครื่องบินท่านั่งอยู่กับที่นานๆ จะมีการแนะนำให้ขยับเท้าเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วเกิดลิ่มเลือด คนไทยเราไม่ค่อยเคยเห็น แต่ในฝรั่งเกิดได้บ่อยกว่า
การแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVTหรือ มีการพูดถึง 'ฮอร์โมนเพศหญิง'
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ไม่เหมือนกันการเกิดลิ่มเลือด ที่พบในวัคซีน virus vector เช่น AStraZeneca, Johnson &Johnson ซึ่งการแข็งตัวเกิดลิ่มเลือดนั้นจะมี 'ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ' ด้วย ที่เรียกกันว่า VITT เป็นคนละโรคกัน และการรักษาก็ต่างกันกับการรักษาในผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVT เพราะเหตุที่เกิดไม่เหมือนกัน
วัคซีน 'Sinovac' เป็นเชื้อตาย คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ เอ ที่เป็นเชื้อตายเช่นกัน รวมทั้งวัคซีนบาดทะยักก็เช่นเดียวกัน เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานมาก การฉีดวัคซีนต่างๆก็ไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่แนะนำให้หยุด 'ยาคุมกำเนิด' รวมทั้ง 'วัคซีนโควิด-19' ในปัจจุบัน ที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้าน dose ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุด 'ยาคุมกำเนิด' ก่อนฉีดวัคซีน ชีวิตทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างปกติมากที่สุด ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดคงต้องให้ทางราชวิทยาลัยสูติศาสตร์นรีเวชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเป็นข้อแนะนำ จะดีที่สุด

  • หยุด'ยาคุมกำเนิด' ก่อน 'ฉีดวัคซีนโควิด-19'ทอย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยระบุว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแม้เกิดได้น้อยมากๆก็ตาม แต่ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยกลไกของผลข้างเคียงจาก 'วัคซีนโควิด-19' ที่สำคัญประการหนึ่ง(นอกจากการแพ้เฉียบพลัน ) คือการจุดให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหดตัว และลิ่มเลือด และเป็นเหตุผลที่ต้องละเว้นยาที่มีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวอยู่แล้ว เช่นยาแก้ปวดไมเกรนและยาแก้หวัด คัดจมูกกลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ 

แต่สำหรับน้ำมันกัญชานั้น ผู้ป่วยที่ใช้อยู่แล้วเนื่องจากมีโรคประจำตัวซึ่งมีพื้นฐานจากการอักเสบและประการสำคัญคือน้ำมันกัญชาสามารถลดการอักเสบได้ ดังนั้นผู้ที่ใช้น้ำมันกัญชาอยู่แล้วเช่นของอาจารย์เดชาของกรมการแพทย์แผนไทย เป็นสิ่งที่ควรใช้ต่อโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ

และสำหรับสตรีที่ใช้ 'ฮอร์โมนเพศหญิง'สำหรับคุมกำเนิดหรือภาวะเกี่ยวข้องกับข้อมูลควรที่จะหยุดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทั้งนี้อย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้  ทั้งนี้ข้อแนะนำตังกล่าวควรจะใช้สำหรับวัคซีนอื่นด้วยเช่นกัน

ขณะที่ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค แนะนำยาที่ควรงดก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนี้

  • ยาแก้ปวดไมเกรน เช่น Cafergot, Avamigran, Tofago ควรงดยา 5 วัน ก่อนฉีดวัคซีน และยา Triptan เช่น Relpax ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน
  • ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น SSRI, SNRI, Tricyclic Antidepressants เช่น fluoxetine, sertraline, escitalopram, venlafaxine, duloxetine, amitriptyline, nortriptyline, imipramine ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน
  • ยาแก้หวัด คัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ เช่น Pseudoephedrine ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน
  • 'ยาคุมกำเนิด' 'ฮอร์โมนเพศหญิง' ควรงดยา 14 วัน ก่อนฉีดวัคซีน

162245374094