เปิดทางจังหวัดไม่พร้อม ใช้ 'หมอพร้อม'จองวัคซีนโควิดได้

เปิดทางจังหวัดไม่พร้อม ใช้ 'หมอพร้อม'จองวัคซีนโควิดได้

ศบค.เผยจังหวัดไหนจะ ใช้"หมอพร้อม"ลงทะเบียนรับวัคซีนต่อก็ทำได้ ส่วนจังหวัดไหนหมอพร้อมไม่ตอบโจทย์อยากพัฒนาระบบลงทะเบียนเองให้เหมาะสมบริบทพื้นที่ก็ทำได้

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 3,759 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังในรพ.1,374 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,073 ราย ในเรือนจำ 1,294 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 18 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 คน หายป่วยเพิ่ม 4,044 ราย ระลอกเม.ย.สะสม 116,113 ราย เสียชีวิตสะสม 860ราย สะสมทั้งหมด 144,976 ราย เสียชีวิตรายสะสมทั้งหมด 954ราย เหลือรักษาอยู่ 46,150 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,226 รายในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 405 ราย

ผู้เสียชีวิตใหม่ 34 ราย ในกทม. 24 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชลบุรี นครราชสีมามตาก นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย ค่ากลางอายุ 69 ปี น้อยที่สุด 33 ปี และมากที่สุด 92 ปี ตัว ส่วนโรคประจำตัว/ ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจิไตเรื้อรังหลอดเลือดสมอง ติดเตียงิมะเร็งตั้งครรภ์และไม่มีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อคนในครอบครัว คนอื่นๆ เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน ผู้ดูแลนักเรียน คนในงานศพ อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ไปในที่คนหนาแน่น เช่น เรือนจำตลาด อาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย รปภ.นักดนตรีและระบุไม่ได้ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ลักษณะผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต ใน 3 รอบระบาด โดยระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มป่วยจนเข้ารักษา รอบ1เฉลี่ย 6 วัน รอบ2เฉลี่ย 4 วันและรอบนี้เฉลี่ย 1.6 วัน และ ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่พบเชื้อจนเสียชีวิต รอบ 1 เฉลี่ย15 วัน รอบ2และรอบนี้เฉลี่ย 12 วัน


"ระลอกนี้ ผู้ติดเชื้อค่อนข้างจะมีอาการและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ระยะพบเชื้อถึงเสียชีวิตรอบ1เฉลี่ยคือ 15 วัน รอบนี้ 12 วัน และมี 54 คนที่เสียชีวิตในวันที่ตรวจพบติดเชื้อ เพราะมาถึงรพ.ด้วยอาการรุนแรง และไม่ได้พบว่ามีการตรวจติดโควิดมาก่อน ส่วนหนึ่งจากที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งญาติอาจไม่ได้สังเกตุเห็นอาการเปลี่ยนแปลง โดยกรมควบคุมโรคแนะนำว่าให้สังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ หรือซึมลง หรือกินน้อยลงหรือหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ รวมถึง ไปรักษาในรพ.โดยไม่มีประวัติสัมผัสโรคชัดเจน มีอาการเล็กน้อย ไม่เข้ารักษา ไปซื้อยาและกักตัวเอง เมื่อไปรพ.ก็อาการรุนแรงแล้ว คร.จึงฝากถึงทุกสถานพยาบาลให้ตรวจหาโควิด-19ทุกรายในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว"พญ.อภิสมัยกล่าว

10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด คือ กทม. 973 ราย โดยมี 3 คลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ ตลาดมีน เขตทุ่งครุ บริษัมเอกชน เขตบางแค และสถานเอกอัครราชทูต เขตวัฒนา มีคลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุด 30 แห่ง และเฝ้าระวัง 6 แห่ง จ.เพชรบุรี 658 ราย สมุทรปราการ 221 ราย นนทบุรี 102 ราย สมุทรสาคร 55 ราย ชลบุรี 42 ราย ปทุมธานี 39 ราย สงขลา 39 ราย นครปฐม 36 ราย และพระนครศรีอยุธยา 32 ราย


จังหวัดสีขาว ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 29 จังหวัด สีเขียวมีผู้ติดเชื้อใหม่ 1-10ราย 30 จังหวัดหากรวมจังหวัดขาวเขียวจะเป็น 59 จังหวัด สีเหลืองมีผู้ติดเชื้อใหม่ 11-50ราย 13 จังหวัด สีส้มมีผู้ติดเชื้อใหม้ 51-100ราย 1 จังหวัด คือ สมุทรสาครและสีแดงติดเชื้อใหม่ มากกว่า 100 ราย มี 4 จังหวัด คือ กทม. เพชรบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี

จ.ไหนจะใช้ "หมอพร้อม"จองวัคซีนต่อก็ได้

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า การลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด -19 ผ่านระบบหมอพร้อมที่เดิมกำหนดให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคลงทะเบียนก่อนนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์บางพื้นที่ ศบค.จึงเห็นชอบว่าจังหวัดใดที่มีความประสงค์พัฒนาการลงทะเบียนให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เองก็ทำได้ ที่ทำแล้ว เช่น ภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ หรือกทม. เป็นต้น


"หมายความว่าหมอพร้อมไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ว่าเปิดช่องทางให้มีการลงทะเบียนเข้าถึงการฉีดและการจองวัคซีนที่เหมาะสมแต่ละแห่ง สมมติยกตัวอย่าง มหาสารคามยังคิดจะลงทะเบียนโดยหมอพร้อมก็ยังใช้ได้ ขอให้จังหวัดวิเคราะห์ความต้องการพื้นที่แล้วให้เสนอมา แต่สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมไปก่อนหน้านี้ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและ7 กลุ่มโรคที่ได้วันนัดฉีดวัคซีนชัดเจนแล้วจะยังได้รับการฉีดตามกำหนดแน่นอน"พญ.อภิสมัยกล่าว