'โควิดสายพันธุ์อินเดีย'โผล่ในจังหวัดใกล้กทม.

'โควิดสายพันธุ์อินเดีย'โผล่ในจังหวัดใกล้กทม.

สธ.เผยความเข้าใจผิด "โควิดสายพันธุ์ไทย" เริ่มจากสื่อหัวนอกในไทยขยายความแบบคลาดเคลื่อน ยันไม่ควรเรียก สายพันธุ์ไทย ขณะที่โควิดสายพันธุ์อินเดียโผล่ในจังหวัดใกล้กทม.

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวกรณีมีผู้ออกมาพูดว่าเจอเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ C 36.3 ในประเทศไทย โดยมีการรายงานว่า Thailand ex Egypt แล้วตีความเองว่าเป็นสายพันธุ์ไทย ว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่เข้าใจว่าเริ่มจากสื่อต่างประเทศแห่งหนึ่งในประเทศไทย และมีผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยมาพูดเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงคือสิ่งที่เขาขยายถึงใน Public Health England หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสาธารณสุขภายในประเทศอังกฤษ ที่ได้มีการสรุปเอกสารเรื่องการกลายพันธุ์ เอกสารฉบับสุดท้ายออกวันที่ 27 พ.ค. มีการเขียน Thailand ex Egypt ทำให้คนเอามาขยายความแบบคลาดเคลื่อน

ข้อเท็จจริงคือผู้ติดชื้อรายนี้ถูกตรวจพบในประเทศไทยจริง แต่เป็นชาวอียิปต์อายุ 33 ปีเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 โดยเข้าสู่ระบบกับตัวในสถานที่กักกันของรัฐ (state quarantine) จากนั้นวันที่ 31 ม.ค.2564 เก็บสิ่งส่งตรวจที่รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อจะถอดรหัสสายพันธุ์ ขณะนั้นบันทึกเป็นเป็นสายพันธุ์ B 1.1.1 และรายงานเข้าระบบข้อมูลของโลก จากนั้นถูกจัดชั้น เป็น B.1.1.1.36 ปรับเป็น C.36 และล่าสุดเป็น C 36.3 อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้รักษาหายแล้ว ตรวจไม่พบเชื้อก็เดินทางกลับประเทศอียิปต์

" กรณีนี้จึงเป็นการตรวจพบในสถานที่กักตัว ไม่ใช่การตรวจเจอในชุมชน ในสังคมประเทศไทย และผู้ป่วยคนนี้ไม่ได้ออกมาจากสถานที่กักตัว เพื่อไปใช้ชีวิตในประเทศไทยแต่อย่างใด และเดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว"นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หากดูในรายงานสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่ามีสายพันธุ์ P.1 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบสายพันธุ์นี้จากคนที่เดินทางมาจากบราซิล ก็รายงานว่าเป็น Japan ex Brazil และต่อมาก็เรียกว่า สายพันธุบราซิล ไม่เรียกสายพันธุ์ญี่ปุ่น ดังนั้น กรณีสายพันธุ์ C 36.3 ที่ไทยเป็นประเทศแรกที่ตรวจเจอ แต่เจอจากคนที่เดินทางมาจากอียิปต์จึงรายงานว่าเป็น Thailand ex Egypt เพราะฉะนั้น ควรจะเรียกสายพันธุ์ไทยหรือไม่ หรือควรเรียกสายพันธุ์อียิปต์หรือไม่ และก็พบสายพันธุ์นี้ในหลายประเทศแล้ว ทั้งนี้ การจะใช้ชื่อสายพันธุ์กรณีที่ตรวจพบที่ไหนตั้งชื่อตามที่นั่น จะต้องเป็นกรณีการพบในชุมชนของที่นั่น แต่กรณีสายพันธุ์ C36.3 ไม่ได้พบในชุมชนของประเทศไทย

"สรุปไม่มี สายพันธุ์ C36.3 ในชุมชน สังคมประเทศไทย จึงไม่ควรจะเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ไทยด้วยซ้ำไป คนที่หยิบเอกสารมาขยายผลขอความกรุณาท่านจะทำไปด้วยวัตถุประสงค์อะไรผมไม่ทราบแต่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย อีกทั้ง ในรายงานของประเทศอังกฤษก็ระบุว่าเป็นสายพันธุ์C36.3เป็นสายพันธุ์น่าสนใจแต่ไม่ใช่น่าห่วงกังวล ยังไม่มีรายงานดื้อวัคซีน หรือโรครุนแรงขึ้น หรือแพร่กระจายเร็ว ทั้งนี้ การถอดรหัสพันธุ์กรรมในไทยสามารถดำเนินการได้ 380 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และมีราคาลดลงจากเดิมครั้งละหมื่นกว่าบาท เหลือราว 1,500 บาท" นพ.ศุภกิจกล่าว

สายพันธุ์อินเดียโผล่จ.ใกล้กทม.

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบโควิดสายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สายพันธุ์อินเดียตามที่ตรวจพบและรายงานผลไปก่อนหน้านี้ 62 ราย ในแคมป์คนงานหลักสี่และบางส่วนในพื้นที่ชุมชน ล่าสุด พบโผล่ที่จังหวัดหนึ่งใกล้กับกทม. โดยพบ 2 ราย ขอยังไม่เปิดเผยชื่อ ขอเวลาตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม เบื้องต้นเท่าเดิม และยังจำกัดอยู่ที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

เมื่อถามถึงโอกาสกลายพันธุ์ในไทย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์อยู่แล้ว ยิ่งมีวงรอบการติดเชื้อมากโอกาสกลายพันธุ์ก็มี และอยู่ที่ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ว่าจะทำให้เชื้อรุนแรงหรือไม่แรงขึ้น ถ้าไม่อยากให้กลายพันธุ์ต้องช่วยกันลดการระบาดให้มากที่สุด