คุมเข้มร้านบุฟเฟต์ ย้ำมาตรการนั่งกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ลดเสี่ยงโควิด-19

คุมเข้มร้านบุฟเฟต์ ย้ำมาตรการนั่งกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ลดเสี่ยงโควิด-19

กรมอนามัย ลงพื้นที่คุมเข้มร้านบุฟเฟต์ ย้ำมาตรการนั่งกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ลดเสี่ยงโควิด-19

 วันนี้ (26 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ ณ สุกี้ตี๋น้อย และร้าน Copper Buffet ชั้น 2 The Sense ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ว่า การลงพื้นที่สถานประกอบกิจการร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ในครั้งนี้ ถือเป็นการย้ำมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมาตรการการผ่อนคลายให้ร้านอาหารต่าง ๆ เปิดให้บริการแต่ต้องมีการคุมเข้มมาตรการในการป้องกันอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนคนนั่งได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งปกติ ซึ่งหากภายในร้านมีที่นั่งสามารถรองรับลูกค้าได้ 100 คน ควรจำกัดจำนวนการให้บริการได้เพียง 25 คน โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และแต่ละคนนั่งกินได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้ถูกวิธี ถอดเฉพาะเวลารับประทานอาหารเท่านั้น จัดให้มีที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ จัดอุปกรณ์รับประทานอาหารเฉพาะบุคคล และงดบริการรูปแบบบุฟเฟต์ที่ให้ลูกค้าไปตักอาหารเอง

           

“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ต้องเน้นความปลอดภัยตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดจากตลาดที่ได้รับการรับรองเป็นตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัย หรือแหล่งจำหน่ายสินค้าที่เชื่อถือได้ หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ และควบคุมความสะอาดภายในร้าน มีการจัดสถานที่ไม่แออัด ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ความหนาแน่น จัดวางโต๊ะอาหารให้มีระยะห่าง จัดที่คีบอาหารและช้อนกลางส่วนตัวแยกไว้ตามโต๊ะ ส่วนบริเวณที่ตักอาหารให้พนักงานเป็นผู้ตักให้ และควรจำกัดเวลาในการนั่งกินอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง รวมถึงจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอาคาร ทำความสะอาดพื้นผิวในจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น ห้องน้ำ ลูกบิดประตู หรือราวจับทางเดิน เป็นต้น พร้อมทั้งคุมเข้มการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตราการป้องกันโควิด-19  2) คัดกรองพนักงานให้บริการ หรือพนักงานขนส่งสินค้าอย่างจริงจังโดยใช้ระบบ Thai Stop COVID Plus และ ไทยเซฟไทย 3) มีระบบติดตามอาการป่วยและพฤติกรรมของพนักงาน โดยดำเนินการเป็นประจำทุกวัน และ 4) มีการจัดทำ Timeline ของพนักงานให้บริการและพนักงานจัดส่งสินค้าในแต่ละวัน เพื่อควบคุมวงระบาดได้ใน  ระยะสั้นและทันท่วงที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว