ส่องแผนฉีดวัคซีน 4 จังหวัด สีแดงเข้ม

ส่องแผนฉีดวัคซีน 4 จังหวัด สีแดงเข้ม

โควิด 19 ระลอกใหม่ มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนหลายคลัสเตอร์โดยเฉพาะในแคมป์คนงานและโรงงาน ขณะที่ 4 จังหวัดสีแดงเข้ม ล้วนเคยเกิดการระบาดในโรงงานทั้งสิ้น นำมาซึ่งการปรับแผนฉีดวัคซีนโดยการปูพรมเข็มแรกให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยเร็ว

"กรุงเทพมหานคร" เรียกว่าเป็นพื้นที่ มีคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวังมากกว่า 30 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะแคมป์คนงาน ที่กระจายในหลายเขต อาทิ คลองเตย บางรัก บางพลัด บางคอแหลม ปทุมวัน ดอนเมือง บางกะปิ ล่าสุดแคมป์นนทบุรีติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย หากดูข้อมูลของกทม. จะพบว่ามีแคมป์คนงานมากถึง 447 แคมป์ กระจายทั้ง 50 เขต ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทั่วประเทศ 2,176,501 ล้านคน (ข้อมูลมี.ค. 64) อยู่ในกทม. 517,631 คน 

  • โรงงาน คนงาน พื้นที่สีแดงเข้ม

จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ ข้อมูลโรงงานและจำนวนคนงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 24 พ.ค. 64 พบว่า 

“กรุงเทพฯ มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 6,147 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานจำพวกที่ 1 (นอกนิคมฯ) 9 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 2 (นอกนิคมฯ) 570 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 3 (นอกนิคมฯ) 5,112 โรงงาน จำนวนคนงาน (จำพวก 2 - 3) รวม 373,472 คน แรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 517,631 คน

“นนทบุรี” 240 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานจำพวกที่ 2 (นอกนิคมฯ) 22 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 3 (นอกนิคมฯ) 218 โรงงาน จำนวนคนงาน (จำพวก 2 - 3) รวม 14,987 คน แรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 84,271คน 

“ปทุมธานี” 3,300 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 2 (นอกนิคมฯ) 270 โรงงานโรงงานจำพวกที่ 3 (นอกนิคมฯ) 3,030 โรงงาน จำนวนคนงาน (จำพวก 2 - 3) รวม 234,839 คน แรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 108,185 คน

“สมุทรปราการ” 6,825 โรงงาน แบ่งเป็น ในนิคมอุตสาหกรรม 650 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 2 (นอกนิคมฯ) 105 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 3 (นอกนิคมฯ) 6,070 โรงงาน จำนวนคนงาน (จำพวก 2 - 3) รวม 456,88 คน แรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 217,458 คน

 

  • เพชรบุรี คลัสเตอร์โรงงานระบาดหนัก

ขณะที่ จังหวัดที่มียอดผู้ป่วยใหม่เป็นอันดับ 2 รองจาก กทม. อย่าง “เพชรบุรี” ซึ่งเกิดคลัสเตอร์ในโรงงาน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 669 ราย ติดเชื้อรวม 2,996 ราย ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า มีโรงงานทั้งหมด 512 โรง แบ่งเป็น โรงงานจำพวกที่ 2 (นอกนิคมฯ) 10 โรงงาน โรงงานจำพวกที่ 3 (นอกนิคมฯ) 502 โรงงาน จำนวนคนงาน (จำพวก 2 - 3) รวม 25,667 คน แรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 18,819 คน

  • เพิ่มมาตรการสกัดแรงงานผิดกฏหมาย

ทั้งนี้ ในโรงงาน และแคมป์คนงานซึ่งมีทั้งแรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และอาจมีแรงงานผิดกฎหมายปะปน การเพิ่มมาตรการเข้มเฝ้าระวังการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง โดยให้ ฝ่ายความมั่นคง” และตำรวจตระเวนชายแดน เพิ่มกำลังเครื่องมือเทคนิค เช่น โดรน เพิ่มจำนวนการตั้งด่าน เพิ่มความถี่ในการตรวจ และ “มหาดไทย” ดูแลจังหวัดติดชายแดน และพื้นที่ชั้นในเน้นมาตรการบทลงโทษผู้นำพา และผู้ลักลอบเข้าเมือง พร้อมกับ ขอประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบเห็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

  • ปรับแผนวัคซีน 

การปรับแผนกระจายวัคซีน โดยการปูพรมฉีดเข็มแรกให้ได้มากที่สุด เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด เช่นเดียวกับ “สมุทรสาคร” ที่เคยพบการระบาดในแรงงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและขณะนี้ มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 173,319 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 29.57% ของประชากร

  • เป้าหมายวัคซีนเดิม

เป้าหมายฉีดวัคซีนเดิมที่วางไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1  บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.2 ล้านคน และ บุคลากรอื่นๆ ด่านหน้า 1.8 ล้านคน คาดฉีดครบภายในเดือน พ.ค. นี้ ระยะที่ 2 ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ “ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป” รวม 16 ล้านคน เปิดจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เริ่มฉีดวันที่ 7 มิ.ย. - 31 ก.ค. 64 ต่อไป และระยะที่ 3 ประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนวันที่ 1 ก.ค. และเริ่มฉีดวัคซีน ส.ค.

  • ปรับแผนใหม่ ใช้สูตร 30 - 50 -20

ต่อมาปรับแนวทางฉีดวัคซีนใหม่ โดยให้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ทุกคนมีสิทธิฉีดวัคซีนแล้ว ไม่จำกัดแค่คนอายุเกิน 60 ปี หรือต้องเป็นกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังแล้ว เพื่อปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน โดยเริ่มต้นในเดือน มิ.ย.นี้ ผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.กลุ่มที่มีการลงทะเบียนผ่าน หมอพร้อม 30% ช่องทางที่ 2. การจัดขอเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มหมู่คณะ เช่น ในโรงงานหรือสถานประกอบการผ่านรพ. 50% และช่องทางที่ 3.เปิดให้ประชาชนทั่วไปวอล์คอิน 20% โดยภายหลังมีการปรับมาเป็น “การลงทะเบียน ณ จุดบริการ” หรือ On-site Registration แทนเพื่อป้องกันการสับสน

  • ปรับแผน ปูพรมฉีดเข็มแรก 

ล่าสุดวันที่ 24 พ.ค. 64 “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ฉีดแก่ประชาชนมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 จะเป็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 หลังจากนั้นเข็มที่ 2 จะเป็นเดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป

เนื่องจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สามารถห่างกันได้ 16 สัปดาห์ จากเดิม 10-12 สัปดาห์ มีข้อมูลวิชาการรองรับ ว่า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงและขึ้นได้เร็ว จึงได้มีการเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ของคนที่รับเข็มที่ 1 แล้วออกไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ศบค.จะมีการประชุมหารือก่อนแถลง เบื้องต้นการจัดสรรวัคซีนจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย คือ 1.จำนวนวัคซีนที่มีเข้ามาในแต่ละช่วงเวลา 2.จำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ 3. สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และ 4.กลุ่มเป้าหมาย เช่น ครู แรงงาน ซึ่งการจัดสรรต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดเพื่อควบคุมโรค

  • แผนกระจายวัคซีน 4 จังหวัดสีแดงเข้ม

ทั้งนี้ แผนการฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศจะเริ่มในเดือนมิถุนายนเป็นหลัก ที่มีวัคซีนของแอสตราเซเนก้าเข้ามาตามสัญญาการส่งมอบ การจัดสรรวัคซีน 4 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ 

1.กทม. จัดสรร มี.ค.-พ.ค.แล้ว 3.69 แสนโดส มิ.ย. 2.5ล้านโดส / ก.ค. 2.5 ล้านโดส 

2.นนทบุรี จัดสรร มี.ค.-พ.ค.แล้ว 5.22 หมื่นโดส /มิ.ย. 6.4 หมื่นโดส/ก.ค.6.45 แสนโดส/ส.ค.3.65 แสนโดส 

3.ปทุมธานี จัดสรรมี.ค.-พ.ค.แล้ว 3.39 หมื่นโดส / มิ.ย. 6.7 หมื่นโดส / ก.ค.6.24 แสนโดส / ส.ค.3.54 แสนโดส

4.สมุทรปราการ จัดสรรมี.ค.-พ.ค.แล้ว 3.36 หมื่นโดส /มิ.ย. 2.37 แสนโดส/ก.ค.4.87 แสนโดส/ส.ค.5.92 แสนโดส  

  • แผนกระจายวัคซีน "เพชรบุรี"

ขณะที่ “เพชรบุรี” จัดสรร มี.ค.-พ.ค.แล้ว 1.62 หมื่นโดส มิ.ย.2.4 หมื่นโดส/ ก.ค.8.4หมื่นโดส/ส.ค.5.4 หมื่นโดส/ก.ย.1.75 แสนโดส

162200111727