โบรกฯ เตือนลงทุนหุ้น U หวั่นขาดทุนต่อเนื่อง ราคาพุ่งแรงใกล้บุ๊คแวลูใหม่

โบรกฯ เตือนลงทุนหุ้น U หวั่นขาดทุนต่อเนื่อง ราคาพุ่งแรงใกล้บุ๊คแวลูใหม่

"ยู ซิตี้" ราคาหุ้นพุ่ง วอลุ่มทะลัก "ยูโอบี" แนะเลี่ยงลงทุนเหตุราคาปัจจุบันใกล้แตะบุ๊คแวลูใหม่ที่ 1.17 บาท "กิมเอ็ง" คาดยังคงขาดทุนต่อเนื่อง "หยวนต้า" คาดหลังปรับโครงสร้างมีเงินทุน 2 หมื่นล้านขยายธุรกิจ

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U วานนี้ (24 พ.ค.2564) ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเช้าทำจุดสูงสุดที่ 1.14 บาท เพิ่มขึ้น 20% ก่อนจะย่อตัวกลับมาปิดตลาดที่ 1.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.07 บาท หรือ 7.37 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,938.12 ล้านบาท

162186507011

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น U ที่ปรับขึ้นแรงช่วงเช้าเชื่อว่ามาจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรประเด็นที่ได้รับเงินจากการเพิ่มทุน และนักลงทุนอาจมองว่าราคาหุ้น U ยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (บุ๊คแวลู) ที่ก่อนเพิ่มทุนอยู่ที่ 2.52 บาทต่อหุ้น หรือ ต่ำกว่าบุ๊คแวลูถึง 4 เท่า

ทั้งนี้จากที่หุ้นเพิ่มทุน  U เข้าเทรดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังการชำระราคาหุ้น ซึ่งจะทำให้ บุ๊คแวลูของ U ลดลงเหลือ 1.17 บาทต่อหุ้น ซึ่งระดับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงใกล้กับระดับบุ๊คแวลูใหม่ จึงไม่แนะนำนักลงทุนเข้าเก็งกำไร ประกอบกับ U จะยังคงขาดทุนอีกหลายปี จากที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่าสำหรับการลงทุนหุ้น U ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อขายทำกำไรระยะสั้น (เทรดดิ้ง) ราคาเหมาะสม 1.10-1.15 บาทต่อหุ้น ภายหลังจากการประชุมนักวิเคราะห์สัปดาห์ก่อน (วันที่ 17-21 พ.ค.2564)  U เปิดเผยถึงแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ผ่านการเพิ่มทุนผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) และการขายสินทรัพย์บางส่วนในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน

โดยคาดว่าภายหลังดำเนินการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E Ratio) ลดลงเหลือ 0.1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 เท่า และคาดว่าจะได้รับเงินจากการปรับโครงสร้างราว 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โอกาสการเติบโตในอนาคต บริษัทมีแผนนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ลงทุนซื้อโรงแรมในประเทศที่ปัจจุบันมีต้นทุนไม่สูงมากจากผลกระทบโควิด-19 แต่มีโอกาสกลับมาดำเนินการปกติและสร้างรายได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการกลับมาเปิดประเทศ โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ที่มาจากโรงแรมในประเทศปรับขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ส่วนรายได้จากโรงแรมในต่างประเทศพบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนจากอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 40% จากจำนวนห้องทั้งหมด

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยไม่แนะนำซื้อหุ้น U ทั้งในแง่การลงทุนระยะยาวและการเทรดดิ้งเก็งกำไรระยะสั้น แม้จะมีปัจจัยหนุนจากพัฒนาการการปรับโครงสร้าง แต่พบว่าบริษัท ยังเผชิญผลขาดทุนต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 6,610.75 ล้านบาท และในไตรมาส 1 ปี 2564 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 346.38 ล้านบาท