ชู BCG Model ตอบโจทย์ขับเคลื่อนประเทศไทย

 ชู BCG Model ตอบโจทย์ขับเคลื่อนประเทศไทย

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชู BCG Model ตอบโจทย์ขับเคลื่อนประเทศไทย ผนึกกำลัง สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ติวเข้ม 50 ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ BCG

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชู BCG Model ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทย ผนึกกำลังสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ติวเข้ม พัฒนาศักยภาพ 50 ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ BCG อัดแน่นทั้งทั้งภาคทฤษฎีและเวิร์คช็อปการออกแบบกระบวนการผลิต


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ณ ห้องประชุมเรือนจุฬานฤมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การจัดอบรมครั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างสรรค์ผลงานตามแนวคิด BCG ด้วยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีศึกษา CE ของประเทศไทย การเพิ่มมูลค่าและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย BCG Model แนวทางการใช้มาตรฐาน CE (Circular Economy) ในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก การจัดการของเสียอันตรายและสารเคมีในสถานประกอบการ และ Workshop การออกแบบกระบวนการผลิตตามหลักการ BCG Model โดยมีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการโรงแรม และประชาชนผู้สนใจกว่า 50 คน



นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม ว่า “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ BCG ปี 2564” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ภายใต้การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่พัฒนาคุณภาพคนและคุณภาพชีวิตไปพร้อม ๆ กัน ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 มุ่งสู่การเติบโตที่สมดุลด้วยการลดและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พัฒนาการผลิตและบริการด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจโดยกระจายความเท่าเทียม และผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกัน


“ ทั้งนี้ BCG Model มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ หนึ่ง เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่า สอง เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ สาม เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม”




อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นการพัฒนาการผลิตและบริการโดยใช้ BCG Model จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ เกิดอาชีพใหม่ที่สามารถรองรับแนวทางการผลิตและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ที่เข้าสู่การผลิตและบริการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


“ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการในธุรกิจการผลิตและบริการที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและดูแลสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการ ถือเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนสู่สังคมและวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งประเทศ” นายสุรชัย กล่าว