'จีน' กับปัญหาประชากรหด

'จีน' กับปัญหาประชากรหด

ส่องปรากฏการณ์ "จีน" กับปัญหาประชากรหด จากที่คุ้นเคยกับปัญหาประชากรล้น และต้องการจำกัดการเพิ่มของจำนวนประชากร แต่วันนี้ปัญหาประชากรหดของจีนจึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนที่ลดลง เท่ากับความเร็วและความแรงของการลด แล้วจีนจะทำอย่างไร?

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเพิ่งประกาศผลการสำรวจข้อมูลประชากรครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี พบว่าประชากรจีนปัจจุบันมีจำนวน 1,410 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.4 จากตัวเลขประชากรเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (1,340 ล้านคน) นับเป็นการเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจข้อมูลประชากรอย่างเป็นระบบทุก 10 ปี มาตั้งแต่ปี 2496

ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือจำนวนคนต่อหนึ่งครัวเรือน ปัจจุบันครัวเรือนจีนมีจำนวนคนเฉลี่ยเพียง 2.62 คน เปรียบเทียบกับในปี 2507 ที่ครัวเรือนจีนมีจำนวนเฉลี่ยที่ 4.43 คน และในปี 2533 ที่ 3.1 คน

จีนแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นสังคมครอบครัวขนาดใหญ่ ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาลูกพี่ลูกน้องอยู่ร่วมกันในครัวเรือนหรือในชุมชน มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าคิดว่าวัฒนธรรมขงจื๊อ ซึ่งเป็นแก่นของวัฒนธรรมจีนนั้น มีรากฐานที่สายสัมพันธ์ภายในครอบครัวขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันจีนกำลังกลายเป็นสังคมครอบครัวขนาดเล็ก เนื่องจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวมาเป็นเวลายาวนาน คนจีนรุ่นใหม่จะไม่มีลูกพี่ลูกน้อง ไม่มีลุงป้าน้าอาแบบครอบครัวใหญ่ในอดีตอีกต่อไป

น่าคิดครับว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวจีนจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของคนจีนรุ่นใหม่หรือไม่ อย่างไร คนจีนรุ่นใหม่อาจจะมีลักษณะความคิดอิสระแบบปัจเจกชนนิยม (individualism) มากขึ้นกว่าความคิดเชิงกลุ่ม หรือเชิงสายสัมพันธ์เช่นในอดีต

สำหรับเรื่องวิกฤติการหดตัวของประชากรจีนนั้น ภูมิภาคที่ตัวเลขดูหนักหนาสาหัสที่สุดคือพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง จีหลิน และเฮยหลงเจียง มีประชากรลดลงถึง 11 ล้านคน หรือลดลงเกือบร้อยละ 10 ตัวเลขการหดตัวของประชากรที่รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น ยิ่งจะเป็นตัวกดศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ให้เผชิญความท้าทายหนักกว่าเดิม

ในจีนตอนนี้ มีการพูดกันถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ พื้นที่ภาคเหนือเศรษฐกิจโตช้าโตต่ำ เพราะติดหล่มอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังตาย (เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและซีเมนต์) ขณะที่พื้นที่ภาคใต้เศรษฐกิจโตรุ่งโตเร็ว เพราะขึ้นรถด่วนขบวนเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยีใหม่ได้สำเร็จ

หลายคนสงสัยว่าเหตุใดอัตราการเกิดของจีนจึงต่ำ ถึงแม้ว่าจีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวและเปลี่ยนมาใช้นโยบายลูกสองคนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว คำตอบก็คือเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากร ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของจีนถือว่าสูงที่สุดในโลก ยิ่งในอนาคตเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ในจีนกลายเป็นสังคมเมือง ซึ่งมีค่าครองชีพสูง อัตราการเกิดของจีนจึงยังน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนคาดกันว่าจีนจะมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ปัญหาวิกฤติประชากรจีนจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ หลายคนเห็นว่ารัฐบาลจีนต้องเปลี่ยนจากแนวคิด “คุมกำเนิด” ในอดีต มาเป็นแนวคิด “คลายกำเนิด” คือต้องหันมาสนับสนุนให้คนจีนมีลูก บางคนถึงกับเสนอว่าต้องมีการให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรอย่างเป็นระบบ ชนิดเหมือนให้รางวัล

จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสังคมตะวันตกอย่างสหรัฐและยุโรป ถึงแม้หลายพื้นที่จะพยายามใช้นโยบายในการจูงใจให้คนมีลูก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเกิด เพราะอัตราการเกิดมักลดลงสอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศที่สูงขึ้นและการก้าวสู่ความเป็นสังคมเมือง เรียกว่าเป็นทิศทางที่ยากจะย้อนกลับ

นักวิชาการอีกฝั่งจึงอยากให้สังคมจีนเริ่มยอมรับความจริง และเน้นที่การรับมือกับปัญหาประชากรหดและอัตราการเกิดต่ำที่จะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ของสังคมจีน โดยให้เน้นที่การดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรและการลดภาระของครอบครัว โดยดูตัวอย่างเช่นแผนสวัสดิการครอบครัวมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของไบเดน ในชื่อว่า The American Families Plan ที่มุ่งทั้งให้การสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหลานและสวัสดิการผู้สูงอายุ

ประชากรหดย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวด้วยเช่นกัน รัฐบาลจีนมีนโยบายขยายเวลาการเกษียณอายุออกไป เพื่อคงกำลังแรงงานในระบบ และกำลังวางแผนระยาวเกี่ยวกับการรับแรงงานอพยพจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เมื่อประชากรหดซึ่งจะทำให้เงินออมสะสมในระบบเศรษฐกิจลดลง ก็อาจส่งผลกระทบถึงอัตราการลงทุน นักเศรษฐศาสตร์จีนหลายคนมองว่ารัฐบาลจีนจะต้องพยายามชะลอไม่ให้อัตราการลงทุนในจีนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยต้องใช้การลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวนำต่อไปในการพยุงเศรษฐกิจในยุคประชากรหด

จีนเคยคุ้นเคยกับปัญหาประชากรล้น และแต่เดิมก็ต้องการจำกัดการเพิ่มของจำนวนประชากร ปัญหาประชากรหดของจีนในวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนที่ลดลง เท่ากับความเร็วและความแรงของการลด โจทย์ทางนโยบายที่สำคัญจึงต้องพยายามประคองและพยุง รวมทั้งบรรเทาปัญหาไม่ให้ประชากรหดเร็วและแรงจนช็อคโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม