CENTEL-ERW ลุ้นวัคซีน-ภูเก็ตแซนบ็อกซ์ฟื้นรายได้ ยันตุนเงินพร้อมสู้โควิด

 CENTEL-ERW ลุ้นวัคซีน-ภูเก็ตแซนบ็อกซ์ฟื้นรายได้ ยันตุนเงินพร้อมสู้โควิด

 “2โรงแรม” ลุ้นฉีดวัคซีนและเปิดภูเก็ตแซนบ็อกซ์ หวังพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว ย้ำฐานการเงินเพียงพอรับมือโควิด-19 ระลอก 3 "เซ็นทรัลพลาซา" ชี้หนี้สินต่อทุนต่ำ ลุยลงทุน 3 ปี "หมื่นล้าน" ด้าน “ดิ เอราวัณ” ตุนสภาพคล่อเฉียดหมื่นล้านรับมือได้ 

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่แน่นอน แต่หากมีการฉัดวัคซีนเพิ่มขึ้น และเปิดภูเก็ตแซนบ็อกซ์เริ่มก.ค.นี้ได้ตามแผน มองว่า จะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจในหลายสาขา ทั้งโรงแรม และการบริการต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวพลิกฟื้นกลับมาได้ จะช่วยหนุนรายได้ของบริษัทฟื้นกลับมาได้เช่นกัน รวมถึงการท่องเที่ยวที่มัลดีฟยังดีต่อเนื่องยังเป็นตัวหนุน 

โดยบริษัทยังมีความแข็งแกร่งด้านการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1.3 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน 1.1 เท่า ด้วยต้นทุนทางด้านการเงินในระดับที่ดีที่ 2.3% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มาจากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือและภาวะดอกเบี้ยปรับตัวลดลง สามารถมาช่วยการบริหารสภาพคล่องได้

ส่วนงบลงทุนในช่วง 3 ปี (2564-2566) อยู่ที่ 10,400 ล้านบาท สำหรับปรับปรุง,พัฒนาโรงแรมใหม่และขยายธุรกิจอาหาร  โดยปี 64 ตั้งงบลงทุน 2,900 ล้านบาท เป็นธุรกิจโรงแรม 1,900 ล้านบาท และร้านอาหาร 1,000 ล้านบาท  ด้านความคืบหน้าโครงการต่างๆ เช่น ที่เกาะสมุย เปิดเฟสแรกไตรมาส 3 นี้ และเฟส 2 ในไตรมาส 4 นี้ ขณะที่ ดูไบ คาดเปิดในไตรมาส 4 นี้  ส่วนที่โอซาก้า และจังหวัดเชียงใหม่ คาดเปิดในปี 66

สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี ในธุรกิจโรงแรมยังคงตั้งเป้ารายได้เติบโตดับเบิ้ล มาจากเติบโตภายในและนอก ภายใต้สถานการณ์ธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติในระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ในปี 62 ซึ่งหลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าน่าจะกลับมาได้ในช่วงปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 และยังมีหลายดีลควบรวมกิจการในมือซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมก่อน

นางสาววรมน อิงคตานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ และ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เปิดเผยว่า บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับโควิด-19 ระลอก 3 ด้วยกระแสเงินสดในมือราว 1,519 ล้านบาท วงเงินกู้สถาบันการเงินที่ยังเบิกใช้ได้เหลืออยู่ 4,924  ล้านบาท เงินเพิ่มทุนอีก 3,100 ล้านบาท รวมถึงขอเลื่อนการชำระเงินต้นทั้งหมดในปีนี้ได้รับการอนุมัติไปแล้วสัดส่วน 96% ต้นทุนดอกเบี้ยที่ 3.14% ลดลงจากสิ้นปีก่อนสนับสนุนการเติบโตอนาคตและมีฐานการเงินแข็งแกร่ง และจากสถานการณ์โควิดทุกครั้งเมื่อภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการคาดใช้เวลาอีก 2 เดือน หลังจากนั้นธุรกิจโรงแรมจะเริ่มกลับมาดีขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติได้