'กรณ์' แนะรัฐบาลวางแผนใช้เงินกู้ 7 แสนล้าน ช่วยดูแลเอสเอ็มอี รักษาการจ้างงาน

'กรณ์' แนะรัฐบาลวางแผนใช้เงินกู้ 7 แสนล้าน ช่วยดูแลเอสเอ็มอี รักษาการจ้างงาน

“กรณ์” ชี้รัฐบาลกู้ชนเพดาน เพิ่มความเสี่ยงหากดอกเบี้ยปรับขึ้น แนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 7 แสนล้านให้มีประสิทธิภาพคุ้มค่าสูงสุด ใช้ดูแลเอสเอ็มอี ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านอาหาร ช่วยพยุงการจ้างงาน ประเมินใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านรอบที่ผ่านมาให้คะแนน6เต็ม10

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีมติออก พ.ร.ก.เงินกู้อีก 7 แสนล้านบาทว่า รัฐบาลนี้นับเป็นรัฐบาลแรกที่ออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณ ถึงสองครั้งเพื่อแก้วิกฤตโควิดสองรอบ รวมวงเงิน 1.7  ล้านล้านบาท เท่ากับ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ซึ่งหากรวมการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณใน 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมาจะเป็นวงเงินรวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของจีดีพีสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ และฟื้นช้า คนไทยยังกลับไปทำมาหากินยังไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินเพิ่มโดยไม่มีทางเลือกอื่น

"การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบคือในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน คำตอบคือ ไม่กู้ไม่ได้อยู่ดี โดยที่ ‘ภาระต่องบประมาณ’ ยังรับได้อยู่ สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้น เทียบกับงบรายจ่ายโดยรวมของรัฐบาล แต่นั่นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้ต่ำมาก และเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่นจะปรับขึ้น เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาหากเศรษฐกิจเราฟื้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าจีีดีพีเราโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% ไปอีก 4-5 ปี เราอาจจะเริ่มมีปัญหา ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือ โจทย์ที่สำคัญที่สุด ต้องกู้แต่ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มที่สุด"

162142124318

ในการกู้เงินรอบใหม่นี้ไม่ควรแจกแนวเดิม และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กแต่ไม่ได้ผล แต่ต้องยิงให้เข้าเป้า นั่นคือเป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอดจนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมาย

นายกรณ์กล่าวต่อว่าในรอบแรกการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทตนให้คะแนนรัฐบาลแค่ 6/10 คะแนน จากส่วนการใช้เงินเยียวยาโดยถือว่ารัฐบาลทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ฯลฯ แต่ที่หัก 4 คะแนนเนื่องจากผิดเป้าหมาย เพราะเอาไป ‘ฟื้นฟู’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียเยอะ และเบิกจ่ายช้ามาก ไม่สมกับเป็นงบฉุกเฉินตามนิยามของ ‘พรก.’

“พรรคกล้า เราเสนอทางออกไปหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหา อย่างล่าสุดเราเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธ ส่วนในเงินกู้ 7 แสนล้านใหม่ มีส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูสูงถึง 270,000 ล้าน ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดซํ้ากับปีที่ผ่านมา ตรงนี้ต้องปรับ และสำคัญที่สุดที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเร่งทำคือ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นเงินกู้ทั้งหมดนี้ก็จะถูกละลายหายไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้คนไทยรู้สึกมีความหวังมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนจากเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ รวมไปถึงกรอบเงินกู้ที่ล้นชนเพดานแล้ว” นายกรณ์กล่าว