ปรากฏการณ์แห่ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ คนไทยพร้อมย้ายจริง..แค่ไหน?

ปรากฏการณ์แห่ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ คนไทยพร้อมย้ายจริง..แค่ไหน?

จากปรากฎการณ์ #ย้ายประเทศกันเถอะ ชวนไปดูสาเหตุสำคัญที่คนรุ่นใหม่อยาก “ย้ายประเทศ” และย้อนดูความพร้อมของเยาวรุ่นไทย กับการเป็น “พลเมืองโลก” ที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทย จะมีส่วนหนุนให้เด็กไทยสามารถไปเติบโตในต่างแดนได้?

จากกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องชังชาติของเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงอย่างโซเชียลมีเดียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง 

กับปรากฏการณ์ล่าสุดของชาว “จะไม่ทน” ที่นำมาสู่กลุ่มใหม่บนเฟสบุ๊คชื่อว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ” (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย”) ที่เปิดมาเพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปันวิธีการเตรียมความพร้อมในการย้ายประเทศ การไปศึกษาต่อ ไปทำงาน หรือแม้กระทั่งการขอวีซ่าถาวรในประเทศที่สนใจ

ตั้งแต่กลุ่มนี้กำเนิดขึ้นมา เมื่อ 1 พฤษภาคม 2564 ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมกลุ่มถึงจำนวน 1 ล้านกว่าคนแล้ว (ข้อมูล ณ 14 พ.ค. 64 เวลา 17.55 น. พบว่า จำนวนผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 1,042,565 คน) 
แม้จำนวนคนในกลุ่มจะมากถึงล้าน แต่ในความเป็นจริง แม้กระทั่ง ภูวณัฎฐ์ แท่นวัฒนกุล ตัวผู้ก่อตั้งกลุ่มเอง ก็กล่าวยอมรับจากการให้สัมภาษณ์ในหลายสื่อว่า คงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ย้าย

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดูว่า

คนไทยพร้อมย้ายประเทศแค่ไหน?

-อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนไทยอยากย้ายประเทศ

-การศึกษาไทยจะก้าวไปสู่ระดับ พลเมืองโลก ได้อย่างไร

-สายอาชีพอะไรที่คนไทยอยากหนีไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด

-----------------------------------------------------

  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ”

อันที่จริงแล้วมีคนพยายามย้ายไปจากประเทศตนเองอยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี กว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ดังใจอยากเพราะไม่ได้มีต้นทุนสนับสนุนความฝันของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้คืออุปสรรคที่ทำให้ยากที่คนธรรมดาหลายๆ คนจะสามารถออกไปจากตรงนี้ได้

4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอยากย้ายออกจากประเทศตัวเอง มีดังนี้

1. เศรษฐกิจ:  เพื่อให้ตนเองมีความมั่นคงและความก้าวหน้าทางการงานในชีวิต

2. สังคม: เพื่อให้ตนเองมีคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และสุขภาพจิตที่ดี รวมถึงการบริหารและสวัสดิการที่ควรได้รับด้วย

3. การเมือง: เพื่อหนีจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสงครามที่กระทบต่อสวัสดิภาพตนเอง

4. สิ่งแวดล้อม: เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในพื้นที่ที่มีความแปรนปรวนของอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันหลายภูมิภาคมีความไม่คงที่มาจากผลกระทบของภาวะโลกอย่างมาก หลายพื้นที่อาจจมหายไปกับน้ำได้ (เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก)

นอกจากนี้หากจะพูดเจาะลึกถึง สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนต้องหนีไปจากประเทศตนเอง” สามารถเป็นไปได้จากเรื่องดังต่อไปนี้ การไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้ ความยากจน อัตราการจ้างงานต่ำ เสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต อัตราการเกิดอาชญากรรมพุ่งสูง เพาะปลูกไม่ขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นไปในทางที่ดี หลายคนคงไม่มีความคิดที่จะอยากไปจากประเทศของตน

162099200772

เครดิต: AFP

   

  • การย้ายประเทศ เกี่ยวกันอย่างไรกับ “ความเป็นพลเมืองโลก”

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “พลเมืองโลก” (Global Citizenship) แต่อาจไม่ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร มาดูกันว่าแท้จริงแล้ว คุณสมบัติของความเป็นพลเมืองโลก เป็นอย่างไร

1.ด้านศีลธรรม-สังคม: สามารถอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่างทั้งกายภาพและความคิด โดยที่ยังเป็นตัวเองและไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เหมือนกับคำที่ได้ยินบ่อยๆว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก”)

2.ด้านการเมือง: มองว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญของโลกและไม่มองว่าการปกครอง กฎ กติกา ระเบียบของตนดีที่สุด

3.ด้านเศรษฐกิจ: มีแนวคิดการค้าแบบเสรี สร้างนวัตกรรม ที่ทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น 

แนวคิดนี้ทำให้คนไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง และสิ่งสำคัญของคนที่เป็นพลเมืองโลกยังต้องมีจิตสำนักต่อปัญหาระดับโลกด้วย เช่น ภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ รวมถึงเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆ ภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ และวิถีชีวิต

นอกจากนี้พอโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันแล้วก็ได้มี แนวคิด “พลเมืองดิจิทัล” (Digital Citizenship) ที่ทำให้เป็นคนมีความรับผิดชอบในการใช้งานด้วย ดังนี้ 

1.ต้องมีทักษะและเทคนิคการใช้งานอย่างสร้างสรรค์ 2. คำนึงถึงสิทธิ คุณค่าในทรัพย์สินทางปัญญา ความรุนแรงทางไซเบอร์ และ 3. ใช้งานให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ-สังคม ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนน การยื่นคำร้อง หรือการให้ความปลอดภัยพลเมือง

ทั้งนี้หากคนที่ต้องการย้ายไปต่างประเทศก็ควรที่จะต้องปรับทัศนคติ-พฤติกรรมตนเองเพื่อให้สอดรับกับความเป็นพลเมืองโลกที่หลายๆ ประเทศยึดถือเป็นธรรมเนียมในสังคมด้วย เพราะหากไปอยู่ต่างประเทศโดยที่ไม่ได้เข้าใจบรรทัดฐานสังคมก็อาจจะเกิดความไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมได้ (Culture Shock)

162099208670

เครดิต: Pixabay

  • การศึกษาไทย ทำไมยังไม่ก้าวไปสู่ระดับ “พลเมืองโลก”

คุณภาพการศึกษาไทย หากพูดตามความเป็นจริงยังคงตามหลังโลกอยู่มากทีเดียว เพราะยังสอนรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นการท่องจำ ไม่เปิดโอสกาสให้ถามหรือกล้าแสดงออก

หากดูจาก การจัดอันดับคุณภาพมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดย Times Higher Education Ranking ล่าสุดจากสถิติปี 2564 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 601 โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองตำแหน่งร่วมกัน  ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 25 ด้วยมหาวิทยาลัย National University of Singapore 

ปัญหาของการศึกษาไทย มีด้วยกัน 5 เรื่องใหญ่ ดังนี้ 

(ข้อมูล: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้ข้อมูลไว้กับ Disrupt Technology Venture) 

1.นักเรียนไทยมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ (จากความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท)

2.ชาติใช้งบประมาณการศึกษาสูงแต่ผลการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศกลับต่ำลง

3.ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีอัตราการเกิดที่ต่ำลง  

4.ความปั่นปวนของเทคโนโลยีทำให้การเรียนการสอนแบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดปัจจุบัน

5.ขาดการสอนทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ใช้ได้จริงให้กับคนทั่วไปทุกๆ คน 

หากมองประเทศใกล้เคียง สิงคโปร์พัฒนาประชากรสู่การเป็น “พลเมืองโลก” อย่างไร?

เทรนด์โลกในวันนี้กำลังก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง ทั้งเรื่องดาต้า คลาวด์ และระบบทำงานอัตโนมัติ ทำให้สิงคโปร์เล็งเห็นว่าต้องรื้อสร้างการศึกษาใหม่ให้ตอบโจทย์ “เทรนด์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอัตโนมัติ” (Automation Economy) เพื่อพัฒนาให้คนของตัวเองไม่ถูกแทนที่ด้วยระบบทำงานอัตโนมัติอย่างเอไอ

การศึกษารูปแบบปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ จึงมุ่งเน้นสอน “วิธีการเรียนรู้” (How to Learn) มากกว่า “สอนให้รู้”  (What to Learn) โดยทำให้ประชากรของพวกเขากลายเป็นบุคคลที่มีศักยภาพ 3 อย่างที่ตอบโจทย์เทรนด์โลกดังนี้

1.มีเครือข่ายกว้างขวางถึงระดับนานาชาติ

การรู้จักคนจากหลากหลายจะเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีได้ และยังทำให้ทราบข้อมูลตลาดพื้นที่อื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

2.มีทักษะเชิงลึกอย่างเข้าใจแท้จริง

โดยเฉพาะศักยภาพการวิเคราะห์ การประเมิน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และทักษะในการสร้างมูลค่าในเศรษฐกิจดิจิทัล

3.มีศักยภาพดิจิทัลที่แข็งแกร่ง

นอกจากเน้นสร้างคนให้วิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้แล้ว ยังเคี่ยวเข็นให้ทุกคนสามารถจัดการปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ได้ด้วย 

162099216266

เครดิต: Pixabay

แล้วประเทศไทยจะพัฒนาการศึกษาให้เทียบเท่าสิงคโปร์ได้อย่างไรบ้าง?

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ให้ข้อมูลไว้ในโครงการวิจัย “การพัฒนาประเทศสิงคโปร์: กระบวนการ การเปลี่ยนผ่าน และความท้าทาย” ดังนี้

1.มุ่งเน้นพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพเฉพาะทาง และต้องตอบสนองในการพัฒนาประเทศอย่างท้าทาย

2.คัดเลือกและพัฒนาบุคคลตามความสามารถ ซึ่งสิงคโปร์ใช้หลักนี้ในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากเรียน-พัฒนาตัวเอง และสร้างองค์ความรู้ที่สร้างความเป็นพลเมืองโลก

3.ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาสองภาษาและผสานความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์

เพื่อให้เกิดพหุวัฒนธรรม ทำให้ประชากรของเราเป็น “ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ” ที่มีมูลค่าในการค้าสู่ระดับสากล

หากสามารถพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าไปตามแนวทางนี้ได้ ประชากรก็จะสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงและใช้ชีวิตไปกับความผันผวนของโลกได้อย่างไม่ลำบาก

   

  • “ความพร้อม” ในการย้ายประเทศของคนไทยอยู่ตรงไหน?

จากรายงาน ถอดรหัสทักษะระดับโลก (Decoding Global Talent) ปี 2563 ที่ผ่านมาของบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งอย่าง Boston Consulting Group (BCG) ที่ทำร่วมกับบริษัทจัดหางานชื่อดัง Jobs DB มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจต่อเรื่อง ความพร้อมของประชากรไทยที่จะย้ายประเทศ ดังนี้

สถิติความนิยมในการไปทำงานที่ต่างประเทศของคนไทย 

เดิมทีในปี 2557 คนไทยกว่า 95% ให้ความนิยมในการไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างมาก แต่ต่อมาในปี 2561 กลับลดลงอยู่ที่ 66% และข้อมูลล่าสุดปี 2563 มีอัตราความนิยมลดต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 46% 

แต่จากข้อมูลความนิยมไปทำงานต่างประเทศของคนไทยในปี 2563 ที่แม้จะลดลงอยู่ที่ 46% กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจในปีล่าสุดอีกเช่นกันว่า กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นทั่วไปให้ความนิยมมากขึ้นถึง 60% ในขณะที่กลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกลับนิยมไปทำงานต่างประเทศน้อยลงกว่า 45% ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความนิยมย้ายประเทศ ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างจริงจังบนโซเชียลมีเดีย ณ ขณะนี้

162099625610

โดยอีกหนึ่งความน่าสนใจ พบว่าปี 2563 ที่ผ่านมา

7 สายอาชีพที่คนไทยอยากออกไปทำงานที่ต่างประเทศมากที่สุด มีดังต่อไปนี้ 

  1. งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (อยากไป 100% ไม่มีใครในสายนี้อยากทำงานในประเทศไทยเลย) 
  2. งานสื่อมวลชน นักข่าว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (อยากไป 88% สูงขึ้นกว่าสิงคโปร์ด้วย) 
  3. ศิลปะและงานสร้างสรรค์ (อยากไป 72%
  4. นักศึกษา (อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ 68%
  5. การจัดการข้อมูลและการควบคุมระบบอัตโนมัติ (อยากไป 67%
  6. วิทยาศาสตร์และการวิจัย (อยากไป 60%
  7. การผลิตและงานปฏิบัติ (อยากไป 60%)

ขณะเดียวกันอาชีพอื่นๆ ที่มีความต้องการไปทำงานต่างประเทศที่ 50-58% ยังมีดังนี้ อาชีพด้านกฎหมาย, วิศวกรรม-งานทางเทคนิค, ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน, งานบริการ, การตลาด-การสื่อสาร, การขาย, งานบริการลูกค้า, การแพทย์และอนามัย, การให้คำปรึกษา, ไอที และเทคโนโลยี 

นอกจากนี้อาชีพที่มีความต้องการไปทำงานต่างประเทศน้อยกว่า 50% มีดังนี้ งานด้านการบริหาร, การส่งออกและโลจิสติกส์, งานเลขานุการ, งานฝ่ายบุคคล และงานด้านการเงิน-ออดิท

ทั้งนี้ ในขณะที่ความนิยมของคนไทยที่อยากทำงานในประเทศไทยเองลดลง แต่ ความนิยมของคนทั่วโลกที่อยากมาทำงานที่ประเทศไทย กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากอดีต

จากการจัดอันดับประเทศที่ผู้คนทั่วโลกต้องการย้ายมาทำงานมากที่สุด ปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีความนิยมอยู่ที่อันดับ 35 จากทั่วโลก ซึ่งเขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ จาก ปี 2561 อยู่ที่อันดับ 39 และปี 2557 อยู่ที่อันดับ 43

162099472391

เครดิต: Pixabay

โดย 5 ประเทศที่สนใจอยากมาทำงานที่ประเทศไทยมากที่สุด ในปี 2563 ได้แก่ 1.ประเทศสิงคโปร์ 2.ประเทศมาเลเซีย 3.ประเทศจีน 4.ประเทศอินโดนีเซีย และ 5.ประเทศรัสเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศใหญ่ 

แต่ในอดีต เมื่อปี 2561 กลุ่มประเทศพื้นที่เล็ก ให้ความสนใจมาทำงานในประเทศไทยมากกว่า มีดังนี้ 1. ประเทศเมียนมา 2. ประเทศสิงคโปร์  3. ประเทศเวียดนาม 4. เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และ 5. ประเทศมาเลเซีย  

นอกจากนี้ในข้อมูลสถิติยังชี้ให้เห็นว่า 10 ประเทศที่คนไทยสนใจย้ายไปทำงานมากที่สุด ของปี 2563 มีดังต่อไปนี้ 1.ประเทศเกาหลีใต้ 2.ประเทศจีน 3.ประเทศสวิตเซอแลนด์ 4.ประเทศแคนาดา 5.ไต้หวัน 6.ประเทศอังกฤษ 7.ประเทศอเมริกา 8.ประเทศสิงคโปร์ 9.ประเทศออสเตรเลีย และ 10.ประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่าศักยภาพด้านการศึกษาและปัจจัยต่างๆ ในการสนับสนุนความฝันเพื่อย้ายประเทศ ของเด็กไทยจะยังห่างไกลกับความต้องการของประชากรคนรุ่นใหม่ที่สวนทางอย่างชัดเจน แต่หากรู้แล้วว่าจะต้องพัฒนาจุดด้อย เสริมจุดเด่น และเตรียมความพร้อมอย่างไรให้สามารถออกไปสู่โลกภายนอกได้อย่างแท้จริง คงไม่มีอะไรยากเกินความสามารถทุกคนอย่างแน่นอน

แม้ว่าศักยภาพด้านการศึกษาและปัจจัยต่างๆ ในการสนับสนุนความฝันเพื่อย้ายประเทศของ “คน ไทย” จะยังห่างไกลกับความต้องการ ที่สวนทางอย่างชัดเจน แต่หากรู้แล้วว่าจะต้องพัฒนาจุดด้อย เสริมจุดเด่น และเตรียมความพร้อมอย่างไรให้สามารถออกไปสู่โลกภายนอกได้อย่างแท้จริง คงไม่มีอะไรยากเกินความสามารถทุกคนอย่างแน่นอน

----------------------------------------------------------------

อ้างอิง: Facebook Group, JobsDB partnership with Boston Consulting Group, BBC Bitesize, CNN, Times Higher Education, กรุงเทพธุรกิจ(1), กรุงเทพธุรกิจ(2), TSRI, Disrupt Technology Venture partnership with TDRI, Estonia Police and Border Guard Board, The 101(1), The 101(2), Prachatai, Thai Health Promotion Foundation, Positioning Magazine Online, Travel and destinations, BK.BROOKE

*ในส่วนของสถิติเรื่องความนิยมในการไปทำงานต่างประเทศของคนไทยทำการวิเคราะห์จากผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามคนไทยจำนวน 2,843 คน ช่วงอายุ 18-60 ปี เป็นผู้ตอบแบบสอบถามช่วงอายุ 20-36 ปีมากที่สุด มีเพศหญิง-ชาย-และเพศทางเลือก และมีการศึกษาครบทุกระดับชั้น รวมถึงการศึกษานอกระบบด้วย