"อีสาน"ไม่ไร้มลพิษฝุ่นPM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่ากทม.-เชียงใหม่

"อีสาน"ไม่ไร้มลพิษฝุ่นPM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่ากทม.-เชียงใหม่

พูดถึงปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 ส่วนใหญ่จะนึกถึงและเข้าใจว่าสภาพปัญหามีอยู่เพียงพื้นที่กทม.และเชียงใหม่เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว "ภาคอีสาน"ก็เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากค่าเฉลี่ยรายปีย้อนหลัง 3 ปี พบว่า จ.ขอนแก่นสูงกว่ากทม.และเชียงใหม่ในทุกปี

       การประชุมสัมนาวิชาการออนไลน์ เรื่อง"มลพิษอากาศในภาคอีสานและศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ" ผ่านระบบZOOM จัดโดย ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เมื่อเร็วๆนี้

ดร.ชัชวาล อัยยาธิติ อาจารย์สาขา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉายภาพลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศสภาพเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ที่เชื่อมโยงถึงปัญหามลพิษอากาศว่า ภาคอีสานมีเทือกเขากั้นจากภาคอื่น มีแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครที่ลาดเอียงจากตะวันตกไปตะวันออก อากาศทั่วไปร้อนชื้นสลับกับแล้งมีผลร่อความรุนแรงของลม ทั้ง2 ส่วนจึงมีผลต่อการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศ ขณะที่การใช้ประโยชน์ที่ดินจะเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเป็นเนื้อที่ทางการเกษตร 63.86 ล้านไร่ แยกเป็นนาข้าว 41.75 ล้านไร่ พืชไร่ 11.45 ล้านไร่ สวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 5.90 ล้านไร่ สวนผักและไม้ดอก 0.32 ล้านไร่ และการเกษตรอื่นๆ4.44 ล้านไร่ โดยพืชหลักของภาค ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ชัชวาล บอกว่า สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคอีสารมีเพียง 12 สถานี และมีเพียงสถานีเดียวที่ข้อมูลสมบูรณ์ คือ ของจ.ขอนแก่นที่มีการวัดถึงPM2.5 สะท้อนว่าการติดตามคุณภาพอากาศไม่ถูกให้ความสำคัญมากทั้งที่ค่าPM2.5 ไม่ต่ำกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี 2561-2563 พบว่า ค่าPM2.5เฉลี่ยรายปี จ.ขอนแก่น เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับมากกว่า 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร(มคก./ลบ.ม)ทุกปี ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม โดยสูงกว่ากทม.และเชียงใหม่ที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน แต่ไม่ถึง30มคก./ลบ.ม นอกจากนี้ ปี 2560-2562 จ.ขอนแก่นมีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเพิ่มจาก 20กว่าวัน เป็น30กว่าวัน และ 50กว่าวันตามลำดับ โดยค่าสูงสุดเกินค่ามาตรฐานชัดเจนช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. และปลายต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี ที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวเพราะวิถีชีวิตสัมพันธ์กับเกษตร

"จะเห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศของภาคอีสาน ไม่ได้ด้อยหรือน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆที่มีรายงานปัญหามลพิษในประเทศไทย โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญ คือ การเผาในที่โล่งพื้นที่เกษตรกรรม สถานประกอบการ โรงงาน และยานพาหนะคมนาคม"ชัชวาลกล่าว

162095066855

สำหรับมลพิษทางอากาศภาคเกษตรกรรม ธนาวุธ โนราช นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 บอกว่า ค่าเฉลี่ยรายปีPM 2.5 จ.ขอนแก่น ย้อนหลัง 7 ปี 2557 อยู่ที่ 29.42 มคก./ลบ.ม ปี2558 อยู่ที่ 30.58มคก./ลบ.ม ปี 2559 อยู่ที่ 39.2มคก./ลบ.ม ปี2560 อยู่ที่ 29.8 มคก./ลบ.ม ปี2561 อยู่ที่ 31.42 มคก./ลบ.ม ปี2562 อยู่ที่ 34.75 มคก./ลบ.ม และปี2563 อยู่ที่ 29.56 มคก./ลบ.ม

ทั้งนี้ การเผาในที่โล่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นวิถีชีวิต มีทั้งการเผาขยะชุมชน เผาข้างถนน เผาไร่อ้อย เผานาข้าวและเผาพื้นที่รกร้างในชุมชน โดยเมื่อดูจากจุดความร้อน พบว่า ปี 2562 จำนวน 49,938 จุด ปี 2563 จำนวน 40,219 จุด และปี 2564(ม.ค.-เม.ย.) 20,949 จุด พิจารณาเฉพาะปี 2564 จำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่เกษตร 8,381 จุด 40% เขตสปก. 4,401 จุด 21% ป่าสงวนแห่งชาติ 2,851 จุด 14% ชุมชนและอื่นๆ 2,631 จุด 12%
ป่าอนุรักษ์ 2,437 จุด 12% และพื้นที่ริมทางหลวง 248 จุด 1% และจำแนกตามชนิดแหล่งกำเนิด
นาข้าว 8,393 จุด 40% อ้อย 1,347 จุด 6% พื้นที่เกษตรอื่นๆ 3,040 จุด 15% พื้นที่ป่า 5,288 จุด 25% พื้นที่ริมทางหลวง 248 จุด 1% ชุมชนและอื่นๆ 2,633 จุด 13%

จะเห็นได้ว่าจุดความร้อนจากการเผาในที่โล่งปี2564 เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรและในนาข้าว และไร่อ้อย กรณีนาข้าวที่ต้องเผาเพราะมีน้ำเพียงพอให้ทำนานอกฤดู โดยมีพื้นที่ทำนานอกฤดู 1.99 ล้านไร่ จ.นครราชสีมามากที่สุด 3.3 แสนไร่ ส่วนการเผาจากไร่อ้อย ภาคอีสานมีกลุ่มโรงงานผลิตน้ำตาล 22 กลุ่มโรงงาน บางจังหวัดมี2-3โรงงาน การเผาจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนตัด เพื่อให้โล่งตัดง่ายได้วันละ 3 ตัน แต่หากไม่เผาตัดได้ 1 ตันต่อวัน และหลังตัด เพราะมีใบอ้อยเก่าเหลืออยู่หากไม่เผาใบเก่าทิ้ง เมื่อต้นเกิดใหม่อาจจะเกิดไฟไหม้และทำให้ตายได้ โดยกลุ่มโรงงานผลิตนเำตาลที่มีพื้นที่อ้อยไฟไหม้มากที่สุด คือ โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ 1.52 แสนไร่ รองลงมาโรงงานน้ำตาลครบุรี 1.03 แสนไร่และโรงงานน้ําตาลเอราวัณ 1 แสนไร่

162095069379

การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ประเทศได้ประกาศการแก้ปัญหามลพิษอากาศเป็นวาระแก่งชาติ มีแผนปฏิบัติ ทำให้จังหวัดมีการตื่นตัวและออกประกาศดำเนิน รวมถึง มีการนำความรู้วิชาการและนวัตกรรมต่างๆเข้าไปแนะนำเกษตรกรและสถานประกอบการเพื่อลดการเผา
กรณีนาข้าว พยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้รถไถเตรียมดินปลูกข้าวนอกฤดู โดยฟางข้าวนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ แต่ซังข้าวซึ่งสัตว์ไม่กินนั้น ก็ให้ใช้เครื่องจักอัดแท่งแล้วนำไปขายให้โรงงานรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวล จากที่ทำในพื้นทีานำร่อง 10,000 ไร่ พบว่า จุดความร้อน 100 จุดในปี 2562 ลดลงเหลือ 1 จุดในปี 2563 ส่วนกรณีไร่อ้อย มีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรในการตัดใบอ้อยแล้วอัดแท่งนำไปขายให้โรงงานที่รับซื้อ และให้โรงงานเลิกซื้ออ้อยที่เผา และจัดคิวรถขนอ้อยเข้าโรงงานให้มีสัดส่วนรถอ้อยสดเข้า 10 คัน และรถอ้อยเผาเข้า 1 คัน ขณะที่การเผาขยะชุมขนได้ส่งเสริมให้มีการทำ"เสวียน"ที่เป็นเก็บใบไม้โดยไม่เผาแต่เป็นการหมักเป็นปุ๋ยแทน
"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ปี 2564 มีจุดความร้อนลดลงอยู่ที่ราว 2 หมื่นจุด จากที่ 2 ปีก่อนหน้าอยู่ที่ราว 4 หมื่นจุด แต่หากคุณภาพอากาศยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะเป็นเพราะค่าเพดานการลอยตัวของอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากมีค่าลอยตัวอากาศต่ำ การระบายอากาศก็ไม่ดี มลพิษก็สูง"ธนาวุธกล่าว

ภาพรวมปัญหามลพิษอากาศระดับประเทศ
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ปัญหาลมลพิษอากาศหลักของประเทศไทย ประกอบด้วย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) โอโซน สารประกอบอินทรีย์ระเหย และโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น แหล่งกำเนิดหลักของสารมลพิษอากาศในประเทศไทย คือ การคมนาคมขนส่ง การเผาเชื้อเพลิงชนิดต่างๆในยานยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือน การเผากากของเสียและชีวมวลในที่โล่ง กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศก่อให้เกิดสารมลพิษอากาศทุติยภูมิ
ส่วนแหล่งที่มาสำคัญของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แยกเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล จากการคมนาคมขนส่ง การเผาชีวมวลในที่โล่ง และฝุ่นทุติยภูมิ ภาคกลาง การเผาชีวมวลในที่โล่ง ภาคเหนือไฟป่าและการเผาชีวมวลในที่โล่ง ภาคตะวันออก การคมนาคมขนส่งอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเผาชีวมวลในที่โล่ง รวมทั้งไฟป่า และภาคใต้ ไฟป่าพรุในอินโดนีเซียและในประเทศไทยโดยเฉพาะป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช
"การแก้ปัญหามลพิษอากาศที่ยั่งยืนคือการลดการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งในประเทศไทยมีการทำและทำให้อากาศในที่นั้นดีขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากเดิมที่ปล่อย 150ตันเหลือ 2 ตันและไม่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นแต่ต้องมีการลงทุน จึงอยากให้มีการนำรูปแบบไปขขายผลในที่อื่นๆ"สุพัฒน์กล่าว

ขณะที่ รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ศูนย์วิชาการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศกล่าวว่า จุดอ่อนหนึ่ฝของการแก้ปัญหามลพิษอากาศของประเทศไทย คือ ขาดความรู้เชิงลึกเพิ่มเติมจากงานวิจัย หรือการพัฒนาเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนานโยบายและสนับสนุนการออกและบังคับใช้มาตรการ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่นการบริหารจัดกา การเผาในที่โล่ง เป็นต้น จึงได้มีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิชาการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ

โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อเป็นศูนย์รวมนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประเทศไทย ในการรวบรวมองค์ความรู้ด้านฝุ่น PM 2.5 ที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ของประเทศ 2.พัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นข้อมูลวิชาการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลงานวิชาการที่สามารถใช้ในการ ต่อยอดพัฒนางานวิชาการต่อไป 3. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการนโยบายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ความรู้สู่สังคมและกลุ่มเป้าหมายอย่างมีคุณภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้นและระยะยาว และ4.เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย สื่อสารความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ และปลูกฝังความเป็นเจ้าของในทรัพยากรอากาศสะอาดกับภาคประชาชน เอกชนและภาคธุรกิจ ร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5