ขึ้น 'รถเมล์' ต้องทำตามนี้! นั่ง-ยืนตามจุดที่กำหนด ถ้าเต็ม ต้องขึ้นคันถัดไป

ขึ้น 'รถเมล์' ต้องทำตามนี้! นั่ง-ยืนตามจุดที่กำหนด ถ้าเต็ม ต้องขึ้นคันถัดไป

ขึ้นรถเมล์ต้องทำตามนี้! นั่ง-ยืน ตามจุดที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ถ้าเต็ม ต้องขึ้นคันถัดไป เพื่อลดความแออัดภายในรถโดยสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 พ.ค.2564) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนรถโดยสาร ผู้ใช้บริการ "รถเมล์" ต้องนั่งและยืนบนจุดที่กำหนดอย่างเคร่งครัด กรณีบนรถมีผู้ใช้บริการเต็ม จะต้องใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป เพื่อลดความแออัดภายในรถโดยสาร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้ทวีความรุนเเรงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ ซึ่ง ขสมก.ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานประจำรถก่อนปฏิบัติหน้าที่ การฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ภายในรถโดยสาร ก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริกา

นอกจากนี้ ขสมก.ได้มีการกำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนภายในรถโดยสาร ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งการกำหนดจุดนั่งและจุดยืนดังกล่าว สอดรับกับประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์สาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สถานีขนส่งผู้โดยสาร พนักงานขับรถ ผู้บริการและผู้โดยสาร

โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ จัดที่นั่งภายในรถโดยสารไม่ให้เกินร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด เพื่อลดความแออัดภายในรถโดยสาร ดังนั้น ผู้ใช้บริการทุกท่าน จะต้องนั่งและยืนบนจุดที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

กรณีบนรถมีผู้ใช้บริการเต็ม พนักงานเก็บค่าโดยสารจะติดป้ายข้อความรถคันนี้ผู้ใช้บริการเต็ม โปรดใช้บริการรถโดยสารคันถัดไปบริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสาร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

ทั้งนี้ ขสมก.ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  • ด้านพนักงานประจำรถ

1.ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้งก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร หากตรวจพบว่าพนักงานมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่และให้รีบไปพบแพทย์ทันที

2.กำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร

3.ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร กรณีผู้ใช้บริการบนรถเต็ม จะต้องใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

  • ด้านรถโดยสารประจำทาง

1.เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน

2.ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายใน รถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น

3.กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนภายในรถโดยสาร

4.ติดตั้ง QR Code แอพพลิเคชัน ไทยชนะบริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์

5.ติดตั้ง QR Code แอพพลิเคชัน หมอชนะ” บริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว

6.ติดตั้งป้ายข้อความเหลือรถอีก 2 คันสุดท้าย” “เหลือรถอีก 1 คันสุดท้าย” “รถคันสุดท้าย” บริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสารที่วิ่งให้บริการ 3 คันสุดท้ายในแต่ละวัน

  • ด้านผู้ใช้บริการ

1.ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร

2.ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น

3.เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอพพลิเคชัน ไทยชนะบนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ก่อนลงจากรถ สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก.ทุกประเภท ควรลงทะเบียนบัตรที่ www.bmta.co.th เพื่อให้บัตรดังกล่าว สามารถเช็คอิน-เช็คเอาท์ โดยอัตโนมัติ เมื่อนำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ มาแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระค่าโดยสาร

4.เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรดาวน์โหลดแอพพลิเคชันหมอชนะเพื่อตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) และลงทะเบียน

5.ผู้ใช้บริการจะต้องนั่งบนเบาะที่กำหนด (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และยืนบนจุดที่กำหนด หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 30 เซนติเมตร กรณีผู้ใช้บริการบนรถเต็ม จะต้องใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

6.ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด

7.ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรเดบิต-เครดิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่อาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้บริการสอบถามเส้นทางรถเมล์ หรือแนะนำบริการได้ที่ www.bmta.co.th, facebook : BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ Call Center 1348 ทุกวัน ตั้งแต่ เวลา 05.00 - 22.00 .