บ.ญี่ปุ่นเน้นตรวจสอบ'ละเมิดสิทธิมนุษยชน'ซัพพลายเชน

บ.ญี่ปุ่นเน้นตรวจสอบ'ละเมิดสิทธิมนุษยชน'ซัพพลายเชน

บ.ญี่ปุ่นเน้นตรวจสอบ'ละเมิดสิทธิมนุษยชน'ซัพพลายเชน หากพบว่าซัพพลายเออร์รายใดทำผิดกฏเรื่องนี้ พร้อมยกเลิกข้อตกลงร่วมมือทางธุรกิจทันที

ตอนนี้บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจที่ทำไม่ได้สร้างรายได้หรือผลกำไรจากการบังคับใช้แรงงานเด็ก บังคับใช้แรงงาน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ตรวจสอบการทำงานของบรรดาซัพพลายเออร์อย่างเข้มงวดและหากพบหลักฐานแม้เพียงน้อยนิดว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะยุติข้อตกลงร่วมมือธุรกิจทันทีในฐานะไม่ผ่านมาตรฐานด้านจริยธรรม

ความพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นข้อบังคับทางกฏหมายของประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทญี่ปุ่นปรับนโยบายหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานของบรรดาซัพพลายเออร์และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาให้ดำเนินการด้านต่างๆอย่างสอดคล้องกับหลักปฏิบัติทางด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากประชาคมโลกให้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ตลอดจนเปิดเผยรายงานความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน หมายถึงความพยายามของบริษัทต่างๆในญี่ปุ่นที่จะจำแนกแยกแยะและกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ อาทิ การบังคับใช้แรงงานและการล่วงละเมิดในฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดจำหน่าย ซึ่งไม่ได้จำกัดวงแค่การตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทตัวเองเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบหุ้นส่วนและซัพพลายเออร์ทุกแห่งที่มีข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจด้วย ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกัน หรือ ตรวจสอบการล่วงละเมิดก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้เช่นกัน

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ปี2563 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ออกข้อมติเรื่องสิทธิมนุษยชนและการจ้างงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตโลก (Council Conclusions on Human Rights and Decent Work in Global Supply Chain) มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปจัดทำร่างกฎมายใหม่เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน (Corporate due diligence) ซึ่งวางกลไกให้ภาคเอกชนสหภาพยุโรปตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตของตนในด้านสิทธิมนุษยชน และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

การจัดทำร่างกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางขับเคลื่อนโลกหลังโควิด-19 ของสหภาพยุโรป และแผนงาน European Green Deal ซึ่งมุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียวที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สาระสำคัญของกฎหมายที่ตราขึ้นคือ การกำหนดให้ภาคธุรกิจสหภาพยุโรปรวมถึงบริษัทต่าง ๆทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรปต้องทำการตรวจสอบระบบห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่ม อาทิ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม และทำการรายงานผลควบคู่ไปกับเรื่องการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้กรอบของธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะภาคธุรกิจญี่ปุ่นเท่านั้นที่จริงจังกับการตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นก็รับรองแผนปฏิบัติการที่เรียกร้องให้บริษัทต่างๆให้ความสำคัญมากขึ้นกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลจะบรรจุบทบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในกฏข้อบังคับด้านความเป็นบรรษัทภิบาลสำหรับบริษัทที่ต้องการทำไอพีโอในตลาดหุ้นในเดือนหน้า

ในบรรดาบริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มีบริษัทอาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิงส์ ที่ประกาศว่าจะเริ่มเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบรรดาซัพพลายเออร์ว่าดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ภายในปีนี้ โดยเน้นพื้นที่ๆมีความเสี่ยงสูงว่าจะมีการล่วงละเมิดแรงงาน อาทิ การผลิตเมล็ดกาแฟ

ขณะที่บริษัทอิโตชู ทำการสำรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็กและการจ่ายค่าแรงงานต่ำกว่ากฏหมายที่ฟาร์มของบรรดาซัพพลายเออร์และโรงงานผลิตใมาเลเซียและในบราซิล ทั้งยังมีแผนขยายการตรวจสอบเข้าไปยังธุรกิจอื่นๆในเครือด้วย