ประชาชนใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง 'ประเมินความเสี่ยง'โควิด-19

ประชาชนใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง 'ประเมินความเสี่ยง'โควิด-19

​กรมอนามัย เผยผลสำรวจ "อนามัยโพล"พบประชาชนส่วนใหญ่ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง "ประเมินความเสี่ยง"โควิด-19 ตั้งแต่มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจหอบ ตาแดง ผื่นขึ้น หากพบเสี่ยงสูงรีบไปพบแพทย์ทันที

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรค "โควิด-19" ระลอกใหม่ ที่ในขณะนี้ได้มีการประกาศให้บางจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ประชาชนตื่นตัวที่จะป้องกันและสังเกตอาการตนเองมากขึ้น

  • "อนามัยโพล" พบคนไทยใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการสำรวจ "อนามัยโพล" เมื่อวันที่ 22 – 29 เมษายน 2564 เกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการ และ "ประเมินความเสี่ยง"ของประชาชนต่อการเป็นโรค "โควิด-19" จำนวน 6,280 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้วิธีสังเกตอาการตนเอง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจหอบ ตาแดง ผื่นขึ้น ร้อยละ 65.4

รองลงมาคือ ใช้เครื่องวัดไข้ ร้อยละ 17.3 และทดสอบว่าจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ร้อยละ 10.6 นอกจากนี้พบว่าวิธีที่ประชาชนคิดว่าจะทำหากมีอาการผิดปกติหรือประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงสูงมากคือ ไปพบแพทย์ทันที ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือรอดูอาการที่บ้าน หากไม่ดีขึ้น จึงไปพบแพทย์ ร้อยละ 20.9 และโทรไปปรึกษาแพทย์หรือใช้ช่องทางออนไลน์ปรึกษา ร้อยละ 20.6

  • กลุ่มที่ควรต้องหมั่นสังเกตอาการ "ประเมินความเสี่ยง"โควิด-19

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ควรต้องหมั่นสังเกตอาการและเฝ้าระวังตนเอง "ประเมินความเสี่ยง"อยู่เสมอ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป เนื่องจากเป็น กลุ่มเปราะบางเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ และติดเชื้อโรคได้ง่าย

รวมทั้งอาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือ สวม "หน้ากากผ้า"หรือ"หน้ากากอนามัย" หลีกเลี่ยงออกจากบ้าน รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอื่น เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการติดต่อกับผู้อื่น ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนกินอาหารและหลังเข้าส้วม

หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อยู่เสมอ เลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ๆ หากกินอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และไม่พูดคุยกัน ขณะกินอาหาร ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก

  • แนวปฎิบัติ "ประเมินความเสี่ยง"ลดเชื้อ

ทั้งนี้ หากมีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาศัยอยู่ภายในบ้านร่วมกันเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากตนเองไปสู่บุคคลอื่น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และ "ประเมินความเสี่ยง"ดังนี้ 1) หยุดงาน หยุดเรียน ไม่ออกไป นอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือ ที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน 2) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น อยู่ห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1 - 2 เมตร หากจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดต้องสวมหน้ากากอนามัย และใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ไม่คลุกคลีกับเด็กและผู้สูงอายุในบ้านโดยเด็ดขาด

3) สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการผิดปกติทางผิวหนัง ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบไปพบแพทย์ 4) ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ "หน้ากากอนามัย"ไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท

5) แยกห้องนอน ห้องน้ำให้ชัดเจน ให้แยกห่างจากกลุ่มเปราะบางหรือผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังให้มากที่สุด พร้อมทั้งแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว แยกการกินอาหารและการใช้ห้องน้ำห้องส้วมออกจากผู้อื่น แต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศสู่ภายนอกเป็นระยะ และปิดประตูด้านที่เชื่อมต่อกับคนอื่นภายในบ้าน จะเปิดได้เมื่อจำเป็นเท่านั้น