UPA รุกกัญชาเพื่อการแพทย์ ถือหุ้น'โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล"หนุนเทิร์นอะราวน์

UPA รุกกัญชาเพื่อการแพทย์ ถือหุ้น'โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล"หนุนเทิร์นอะราวน์

บอร์ด UPA ไฟเขียว ส่งบริษัทย่อย "แคนนา แคร์” เข้าถือหุ้น “โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป” 2.27% เตรียมพร้อมลุยผลิตและจำหน่ายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อีกหนึ่งธุรกิจสนับสนุนการ Turn Around

นายกวิน เฉลิมโรจน์  ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA เปิดเผยว่า  คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติในหลักการให้บริษัท แคนนา แคร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (บริษัทเป้าหมาย) โดยการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทเป้าหมายจำนวน 50 ล้านบาท โดยหุ้นที่บริษัท แคนนา แคร์ จะได้มารวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.27% ของหุ้นสามัญทั้งหมดในบริษัทเป้าหมาย ภายหลังที่บริษัทเป้าหมายประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนจดทะเบียนตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ บริษัทเป้าหมายมีการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ บริษัทเป้าหมายได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการผลิตและสกัดกัญชาเพื่อการวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าทำรายการลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากบริษัทฯจะต้องทำการตรวจสอบสถานะของกิจการ  (Due diligence) ของบริษัทเป้าหมาย รวมถึงคู่สัญญายังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่สำคัญได้แก่ ผลการตรวจสอบสถานะกิจการของบริษัทเป้าหมายเป็นที่พึงพอใจแก่ บริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาจะต้องไม่เป็นการประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเบื้องต้นสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ปลูกและสกัดกัญชา เพื่อการวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว  นอกจากนี้ การเพิ่มทุนประสบผลสำเร็จและได้รับการขำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนจากผู้ลงทุนรายอื่นซึ่งเป็นที่พึงพอใจแก่บริษัทฯ

ในกรณีที่บริษัทเห็นว่า ผลการตรวจสอบสถานะของกิจการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นที่พึงพอใจ บริษัทจะพิจารณาเข้าทำรายการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน พ.ค.2564

UPA ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 ปัจจุบันเป็นเจ้าของ บริษัท ย่อย 8 แห่งซึ่งมีธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจโดยลงทุนในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และข้อมูล และสาธารณูปโภค โดยในประเทศ ประกอบด้วย*โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการสหกรณ์ฯ ทั้ง 3 โครงการกำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการสหกรณ์ผู้ผลิต และผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อ.กระแสสินธุ์  กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ระยะการขายไฟ 25 ปี โครงการสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรีกำลังการผลิต 1.75 MW ระยะการขายไฟ 25 ปี โครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน กำลังการผลิต1.2 MW  ระยะการขายไฟ 25 ปี

โครงการโซลาร์สหกรณ์ฯ จังหวัดอุดรธานี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์  จำหน่ายติดตั้ง ให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เป็นระยะเวลา25 ปี

ส่วนโครงการในต่างประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Song Luy1  ประเทศเวียดนาม  กำลังการผลิต 46.7 เมกะวัตต์ ระยะการไฟฟ้า 20 ปี   ได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ แล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์ในเมียนมา จากการลงทุนผ่าน "บริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ”(MUPA) Myanmar Electric Power  Enterprise  อยู่หว่างการรอ PPAกับทางการเมียนมา

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ One Central Tower ถือครองที่ดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ National Road 1, Niroth Commune, Chbar Ompov, Phnom Penh ราชอาณาจักรกัมพูชาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากย่านธุรกิจใจกลางกรุงพนมเปญเพียง 2.5 กิโลเมตร และอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ Bassac ซึ่งจัดเป็นเขตพัฒนาใหม่ในกรุงพนมเปญ

การลงทุนใน One Central Tower เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เปิดตลาดใหม่ และกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดโอกาสในการขยายการลงทุนในประเทศใหม่ๆ  รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV ตามแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจสาธารณูปโภค ได้รับสิทธิในการลงทุนในโครงการจัดหาน้ำแซนดินในสปป. ลาว (“ โครงการน้ำ”) โดยลงทุนร้อยละ 30 ของหุ้นทั้งหมดใน AIDC Water Holding (Singapore) Pte. จำกัด (“ AWH”)

ผลิตน้ำประปาในเชิงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายให้กับ การประปานครหลวงของลาว โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี กำลังการผลิตรวม 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

และล่าสุดจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ บริษัท แคนนา แคร์ จำกัด เพื่อลงทุนในบริษัทหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนาและลงทุนในพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ซึ่งรวมถึง กัญชง และกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่หนุนการ TURN Around ของผลประกอบการของบริษัท

บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (GTG)

ลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาและลงทุนในพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ซึ่งรวมถึง กัญชง และกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  ปัจจุบัน GTG มีนายชัชวาล เจียรวนนท์ นายพิชัย ชุณหวชิร  คุณกฤษธ์ ธีรเกาศัลย์ นายนิสิต สิทธิอาษา  Mr.Robert Stone และนางสาวกะรัต รุ่นประพันธ์ เป็นกรรมการบริษัท

บริษัทได้ร่วมกับบริษัทระดับนานาชาติในการนําเข้าเมล็ดกัญชาที่ดีที่สุดจาก 3 บริษัทด้วยกันได้แก่ DNA Genetics, Resin Seed และ Drury Lane

 นอกจากนี้ บริษัททำการศึกษาวิจัยหาแม่พันธุ์กัญชงที่ถูกต้องตามกฏหมายคือมีปริมาณ THC ในช่อดอกแห้งไม่เกิน 1% และมีปริมาณ CBD สูง เพื่อนำมาผลิตสารสกัด CBD ที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดตามกฎหมายกำหนด ในปัจจุบัน GTG ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและเป็นเจ้าของแม่พันธุ์กัญชง ซึ่งตั้งชื่อว่า “RAKSA” ที่ให้สาร CBD เฉลี่ยในดอกแห้งทั้งต้นได้ถึง 15.8% ซึ่งถือเป็นแม่พันธุ์กัญชงที่ให้ปริมาณสาร CBD สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 GTG มุ่งเน้นการขายต้นอ่อนและให้คำปรึกษาด้านการเพาะปลูก การทำฟาร์มให้ได้ผลผลิตสูง  การจัดการอบรม และสัมมนาสำหรับนักธุรกิจและผู้ที่มีความสนใจ การทำเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming ซึ่งมีหลายองค์กรให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

บริษัทพร้อมที่จะให้บริการเผยแพร่ทักษะและผลิตภัณฑ์ที่มี จากทีมงานที่มีประสบการณ์เพื่อขยายอุตสาหกรรม กัญชา-กัญชง ในประเทศไทย ให้ถูกต้อง (ตามข้อกฎหมาย) และถูกตัว (แม่พันธุ์) เพื่อการเพาะปลูกให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง

นอกจากกัญชงพันธุ์ RAKSA แล้ว GTG ร่วมกับ ม.ราชภัฏเชียงราย ยังได้วิจัยแม่พันธุ์อื่น ๆ ที่ให้สาร CBD และ THC ในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อรองรับกฎหมายการใช้ประโยชน์จากกัญชา ในอนาคต  ปัจจุบัน GTG ได้เข้าเจรจาขอเป็นผู้ร่วมวิจัยด้านกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยสายพันธุ์ และเมื่อปี 2563 บริษัท ได้รับใบอนุญาตจาก อย.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ 

และในปี 2564 มีแผนการผลิต บริษัทสามารถเริ่มผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้ง เพิ่มการผลิต CBD เป็น 75 ล้าน  มิลลิกรัมต่อเดือน และCEI Interim / BKK Production

ส่วนในปี 2565 พร้อมขยายกำลังการผลิต CBD เป็น 150 ล้าน มิลลิกรัมต่อเดือน และส่งออกช่อดอกไม้อบแห้งทางการแพทย์ 200 กิโลกรัมต่อเดือน และในปี 2566 เริ่มสร้างโรงงานเมล็ดพันธุ์และผลิตกัญชาที่ซับซ้อน และเพิ่มการส่งออกดอกไม้อบแห้งทางการแพทย์ 500 กิโลกรัมต่อเดือน ผลิตเมล็ดพืชเพิ่ม พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท  รวมทั้งเพิ่มการผลิต CBD เป็น 300 มิลลิกรัมต่อเดือน