ไทยแอร์เอเชีย 'ปรับโครงสร้าง' ดึง 6 พันล้านเสริมสภาพคล่อง

ไทยแอร์เอเชีย 'ปรับโครงสร้าง'  ดึง 6 พันล้านเสริมสภาพคล่อง

“ไทยแอร์เอเชีย” กางแผนทางรอด! เดินหน้าปรับโครงสร้างกิจการ ดึงเงินทุน 6 พันล้านบาทหนุนสภาพคล่อง เผยดีลนักลงทุนใหม่ 3.15 พันล้านบาท หนุนต้นทุนการเงินต่ำ พร้อมระดมทุนขายหุ้น IPO ไทยแอร์เอเชียอีก 3 พันล้านบาทปลายปีนี้

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ 55% กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 1 ปี พยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ ล่าสุด AAV ได้กำหนดแผนการปรับโครงสร้างกิจการขึ้นใหม่

โดยตามแผนระยะสั้นไทยแอร์เอเชีย (TAA) จะได้รับสินเชื่อจากนักลงทุนรายใหม่ ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ปลอดดอกเบี้ย มูลค่าไม่เกิน 3,150 ล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาทำการบินได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้นักลงทุนรายใหม่อยู่ระหว่างการตรวจสอบกิจการ และเจรจารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือน พ.ค.2564 และได้รับเงินลงทุนส่วนนี้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.นี้

“เงินกู้จากนักลงทุนรายใหม่ก้อนนี้จะช่วยเรื่องบริหารสภาพคล่องของไทยแอร์เอเชียได้อีก 3 ปีนับจากวันได้รับเงินกู้ หลุดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ที่น่าจะคลี่คลาย ธุรกิจการบินฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ”

หลังจากนี้นักลงทุนจะสามารถแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้เป็นหุ้นสามัญของ TAA ภายหลังจากที่ TAA นำเเผนเข้าหารือและได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการนำ TAA เข้าจดทะเบียนแทน AAV และเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อไปในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งน่าจะระดมทุนได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท และทำให้แผนปรับโครงสร้างกิจการครั้งนี้ TAA จะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท พร้อมเติบโตได้ในระยะยาว

“ดีลจากนักลงทุนรายใหม่จำเป็นสำหรับเรามาก เป็นนักลงทุนรายบุคคลที่สนิทกัน และไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจการบิน ตอนเจรจาดีลไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวมาก เพราะทางนักลงทุนรายใหม่เห็นแนวโน้มว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสม ถือว่าเป็นดีลที่ดีที่สุด ได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกที่สุดและยั่งยืน สร้างภาระให้กับบริษัทน้อยที่สุด ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยดีลนี้เริ่มทำมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเราดิ้นรนทำทุกทาง เช่น ยื่นขอการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากรัฐบาลมานานกว่า 1 ปี คือถ้าได้ซอฟท์โลนในอนาคต เราก็ยังจะเอา เพราะดอกเบี้ยถูก แต่ถ้าเรานั่งงอมืองอเท้ารออยู่ ป่านนี้บริษัทก็คงเจ๊งไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่อยากรอรัฐบาลอย่างเดียว และความอดทนมันก็มีจำกัด”

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่หลังการปรับโครงสร้างกิจการ นักลงทุนรายใหม่จะเข้ามาถือหุ้นที่สัดส่วน 11% จากหุ้นกู้แปลงสภาพ ส่วนฝั่งบริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด จากประเทศมาเลเซีย ยังคงสัดส่วนเท่าเดิมที่ 45% ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิม AAV สัดส่วนการถือหุ้นจะถูกไดลูท ลดลงเหลือ 24% (จากการแปลงหุ้น AAV สัดส่วน 59%) และส่วนที่จะเตรียมเสนอขาย IPO หุ้น TAA ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น

นายธรรศพลฐ์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 2564 มองว่าขึ้นกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ หนุนการเปิดบินระหว่างประเทศ หลังได้เสริมสภาพคล่องเข้าไปแล้ว โดยคาดว่าผลประกอบการปีนี้น่าจะดีขึ้น แม้ยังขาดทุน แต่ก็เป็นการขาดทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563

ส่วนปี 2565 คาดว่าผลประกอบการน่าจะยังไม่มีกำไร ถึงจุดคุ้มทุน (Break Event) ได้ก็เก่งแล้ว หรือขาดทุนให้น้อยที่สุด ซึ่งไทยแอร์เอเชียน่าจะเริ่มทำการบินระหว่างประเทศได้ในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า และน่าจะกลับมาบินระหว่างประเทศเต็ม 100% ในปี 2566 ทำให้กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวเสริมว่า ด้านตลาดเที่ยวบินในประเทศตอนนี้ไทยแอร์เอเชียได้ปรับลดการใช้เครื่องบินเหลือ 15-20 ลำ ลดลง 60% จากก่อนเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งใช้เครื่องบินเกือบ 40 ลำ ทั้งนี้อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 2564 ที่ตั้งไว้ที่ 9.4 ล้านคน อาจจะต้องขอรอดูผลกระทบว่ายืดเยื้อแค่ไหนในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ โดยได้จำกัดค่าใช้จ่ายไว้ที่เดือนละ 200 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์รายได้