ธปท.ชี้ Digital Payment ทางเลือกใหม่ ช่วยป้อง การแพร่ระบาดของ ‘โควิด 19’

ธปท.ชี้ Digital Payment ทางเลือกใหม่ ช่วยป้อง การแพร่ระบาดของ ‘โควิด 19’

ธปท. เปิดยอดใช้ digital payment ชี้เป็นช่องทางสำคัญที่ภาครัฐใช้ในการจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้รับได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด อีกทั้งยังเป็นช่อฝทางในการช่วยทดแทนการใช้ธนบัตร ช่วงที่โควิดระบาดอีกด้วย

     ล่าสุด 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' ธปท.ได้เปิดรายงานประจำปี 2563 ผ่านบทความต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ คือ บทความ e-Payment และการจัดการธนบัตร ช่วยประชาชนได้อย่างไรในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

      จากพฤติกรรมของประชาชนที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น"digital payment" จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านรูปแบบบริการชำระเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโอนและชำระเงินผ่าน mobile application พร้อมเพย์ QR payment หรือการตัดเงินจากบัตรเครดิต/เดบิตผ่านออนไลน์

      นอกจากนี้ digital payment ยังเป็นช่องทางหลักที่ภาครัฐใช้ในการจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้รับได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด รวมถึงเป็นช่องทางให้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

       เช่น การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันผ่านพร้อมเพย์

      การให้เงินสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐตามโครงการคนละครึ่งซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับเงินให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนได้ทดลองใช้และคุ้นชิน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ digital payment อย่างแพร่หลายและต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

    

    

         ในปี 2563 ปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเป็น 202 รายการต่อคนต่อปี จากปีก่อนหน้าที่ 135 รายการต่อคนต่อปี         
         
 •  ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ เพิ่มขึ้น จำนวน 6.4 ล้านหมายเลข รวมเป็น 56.2 ล้านหมายเลข

          •  มีธุรกรรมพร้อมเพย์เฉลี่ย 20.2 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.8 (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 74.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.1 (YoY)

          •  การชำระเงินจากบัตรเครดิต/เดบิตผ่านออนไลน์ มีปริมาณธุรกรรม 17.9 ล้านรายการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.3 (YoY) มูลค่ารวม 35.5 พันล้านบาท

          •  จำนวนจุดรับ QR (เดือน ธ.ค. 63) มีจำนวน  6.9  ล้านจุด

          •  ธุรกรรม QR payment (เดือน ธ.ค. 63) 36.3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 71.6 พันล้านบาท

       อย่างไรก็ดี ในด้านการจัดการธนบัตร ธปท. ตระหนักถึงความเสี่ยงของประชาชนจากการใช้ธนบัตรในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

      จึงเพิ่มมาตรการความปลอดภัยโดยการแยกเก็บธนบัตรที่ ธปท. รับฝากจากธนาคารพาณิชย์ไว้ให้นานขึ้นเป็นเวลา 14 วัน ก่อนกระจายสู่ประชาชนอีกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสที่อาจอยู่บนธนบัตร

      ส่วนธนบัตรสภาพเก่าจะถูกทำลายและนำธนบัตรใหม่ไปใช้งานแทน โดย ธปท. ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์กระจายธนบัตรใหม่เข้าสู่ระบบให้มากขึ้น รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์วิธีการทำความสะอาดธนบัตรอย่างถูกวิธี

     นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ธนบัตรในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างเพียงพอ

     ธปท. จึงได้ปรับเพิ่มปริมาณธนบัตรสำรอง และประสานงานกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการธนบัตรแก่ประชาชน

     รวมทั้งติดตามสถานการณ์ธนบัตรปลอม และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันที หากพบการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม โดยมีการประชาสัมพันธ์วิธีการสังเกตธนบัตรปลอมแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง