ชาวญี่ปุ่นยินดีทำงานเลยเกษียณ-สหรัฐพึ่งพาแรงงานสูงอายุเพิ่ม

ชาวญี่ปุ่นยินดีทำงานเลยเกษียณ-สหรัฐพึ่งพาแรงงานสูงอายุเพิ่ม

สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อประเทศพัฒนาไประดับหนึ่ง ที่ประชาชนสุขภาพดีอายุยืนขึ้น คนหนุ่มสาวแต่งงานน้อยลง เด็กเกิดน้อยลง ขาดแคลนแรงงานจนต้องคิดถึงการจ้างงานคนวัยเลยเกษียณ

เว็บไซต์เจแปนไทม์สรายงานว่า ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงานมากขึ้น นับตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศนโยบายอาเบะโนมิกส์ในปี 2555 เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดและแรงงานข้ามชาติย้ายถิ่นเข้ามายาก แรงงานสูงอายุชาวญี่ปุ่นจึงทำหน้าที่เสมียนร้านค้า พนักงานทำความสะอาด และขับแท็กซี่

ผลการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์เมื่อเดือน ส.ค.63 จัดทำโดยนิปปอนไลฟ์อินชัวรันซ์ จากผู้ให้ข้อมูล 7,543 คน พบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการทำงานต่อแม้ถึงวัยเกษียณ เหตุผลหลักมาจากความกังวลทางการเงิน โดย 38.7% ต้องการทำงานที่ทำอยู่ต่อไปหลังเกษียณ 25.3% ตอบว่าอยากเปลี่ยนไปทำงานอื่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ผลพวกจากประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นมากและอัตราการเกิดลดลง

ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นอนุญาตให้ประชาชนทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปีถ้าต้องการ แต่ในเดือนนี้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับแก้ไขอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จนถึงอายุ 70 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

การสำรวจความคิดเห็นถามด้วยว่าอยากทำงานจนถึงเมื่อใด 40% ตอบว่า ระหว่าง 65-69 ปี 31.2% เลือกเกษียณระหว่าง 60-64 ปี ราว 11.7% ตอบว่า พร้อมทำงานไปจนเลย 75 ปี

ผลสำรวจชี้ว่า ยิ่งอายุมากขึ้นผู้ให้ข้อมูลยิ่งชอบงานที่ทำอยู่มากขึ้น กว่าครึ่งในวัยไม่น้อยกว่า 60 ปีตอบว่า พวกเขาอยากทำงานต่อ

“ผู้คนเมื่อใกล้เกษียณมีแนวโน้มกังวลเรื่องการเปลี่ยนงานมากขึ้น และไม่อยากให้รายได้ลดลง” โทโมกิ อินูเอะ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ ในเครือนิปปอนไลฟ์อินชัวรันซ์ให้ความเห็น

ส่วนการเตรียมการสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่า ต้องการเก็บเงินเฉลี่ย 30.33 ล้านเยน (290,000 ดอลลาร์) ขณะที่ 62.1% ไม่ทราบว่าจะได้เงินบำนาญและสวัสดิการเท่าใดยามเกษียณ

ที่สหรัฐก็มีปัญหาแบบเดียวกัน เว็บไซต์ brookings.edu รายงานว่า ชาวอเมริกันอายุยืนและสุขภาพดีขึ้นแม้อยู่ในวัยชรา และกำลังทำงานเกินอายุเกษียณ หลายคนทำงานเพราะไม่อยากอยู่เฉย อยากพบเพื่อนฝูง หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่เหตุผลทางการเงิน แต่หลายคนต้องทำงานเพราะต้องการเงิน

ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจสหรัฐก็พึ่งพาแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นทุกที คนที่เกิดในยุคเบบี้บูม (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) กำลังชรา กำลังแรงงานสหรัฐเกือบ 1 ใน 3 อายุไม่น้อยกว่า 35 ปี และเพิ่มขึ้น 12% ตั้งแต่กลางทศวรรษ 90

ชาวอเมริกันเกษียณอายุที่ 65 ปี เว็บไซต์อินเวสโตพีเดียรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรถึงอาชีพยอดนิยมหลังเกษียณ 6 อาชีพได้แก่ 1) เสมียนทำบัญชี ใช้ความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมบัญชี สเปรดชีตและดาตาเบส 2) อาจารย์ช่วยสอนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่ไม่หวังผลกำไร ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาเอก แต่ค่าตอบแทนต่ำเพียงไม่กี่พันดอลลาร์ต่อหลักสูตร 3) วางแผน/ประสานจัดอีเวนท์ แม้ไม่เคยทำงานเป็นนักวางแผนอีเวนท์มาก่อน แต่หลายคนก็เคยวางแผนหรือช่วยจัดงานมาแล้วหลายงาน เช่น งานเลี้ยงวันเกิด งานแต่งงาน งานฉลองครบรอบ จึงสามารถนำประสบการณ์ส่วนนี้มาหางานหรือเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง อาศัยเครือข่ายเพื่อนฝูงและครอบครัว การเติบโตของงานนี้ระหว่างปี 2562-2572 คาดว่าอยู่ที่ 8% เทียบกับการเติบโตของทุกอาชีพเฉลี่ยที่ 4% ค่าจ้างเฉลี่ยในปี 2562 ที่ 24.33 ดอลลาร์ (730 บาท) ต่อชั่วโมง

4) ที่ปรึกษาโครงการ แทนที่จะจ้างคนมานั่งทำงานเต็มเวลา หลายบริษัทเลือกจ้างที่ปรึกษามาช่วยทำโครงการพิเศษ เป็นโอกาสดีที่ผู้สูงอายุจะใช้ประสบการณ์ที่มีมายาวนานทำงานแบบไม่เต็มเวลา ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และทักษะของแต่ละคน รายด้านอาจสูงถึง 50 (1,500 บาท) หรือ 100 ดอลลาร์ (3,000 บาท) ต่อชั่วโมง

5) พนักงานร้านค้าปลีก ปี 2562 สหรัฐมีตำแหน่งงานนี้ราว 4.3 ล้านอัตรา

6) ครูช่วยสอน ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของครูผู้มีใบประกอบวิชาชีพ อาจทำงานกับนักเรียนทั้งห้อง ดูกลุ่มเล็กๆ หรือดูนักเรียนรายบุคคลทั้งในโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และศูนย์ดูแลเด็ก