"เนชั่น กรุ๊ป" เร่งเพิ่มรายได้เดินหน้าออนไลน์

"เนชั่น กรุ๊ป" เร่งเพิ่มรายได้เดินหน้าออนไลน์

 ‘เนชั่น’ เร่งเครื่องหารายได้ใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ อีเวนท์ บีทูซี เตรียมประเดิมเปิดร้านกาแฟ เม.ย. นี้ หวังสร้างแบรนด์ พร้อมใช้เป็นจุดกระจายสินค้า พร้อมเดินหน้าล้างขาดทุนสะสมกว่า 3 พันล้านบาท

นายสมชาย มีเสน กรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทจะเดินหน้าหารายได้จากช่องทางใหม่ๆ ทั้งจากสื่อออนไลน์ การจัดกิจกรร อีเวนท์ ธุรกิจ B2C หลังประสบความสำเร็จจากการขายสินค้า Home Shopping ผ่าน “Happy Shopping”

และเตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ “เนชั่น สยาม คอฟฟี่” ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง NMG และ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NCB โดยจะเปิดสาขาแรกภายในเดือน เม.ย. นี้ ที่ชั้น 1 อาคารเนชั่น บางนา เป็นร้านต้นแบบเพื่อทดลองตลาด และเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน

“ร้านกาแฟใช้เงินมาจาก cash flow ของบริษัท สาขาแรกเริ่มที่ใต้ตึก ไว้รองรับแขกและเป็นสวัสดิการให้พนักงาน ถ้าโควิดคลี่คลายมีแผนขยายเพิ่มเป็น 10 สาขา ใช้เงินลงทุนราว 10 ล้านบาท นอกจากจะเป็นช่องทางสร้างแบรนด์แล้ว ในอนาคตจะเป็นจุดกระจายสินค้าที่ขายผ่าน Home Shopping ด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 3,358 ล้านบาท ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารงานพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อล้างขาดทุนสะสมและจัดการกับหนี้สินที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคณะกรรมการชุดก่อน ทั้งการเดินหน้าขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก การขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลให้การดำเนินธุรกิจหลายๆ อย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะหาวิธีที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น

“การล้างขาดทุนสะสมเราศึกษาอยู่หลายวิธี สมมติถ้าลดทุน แล้วเพิ่มทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสม ทำให้กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ แต่เราตระหนักว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย เราไม่อยากรบกวนผู้ถือหุ้น จึงขอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง รอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้น เชื่อว่าธุรกิจจะเดินหน้าต่อไปได้”

ส่วนความคืบหน้าที่เกี่ยวกับรายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2558-2559 สำหรับคดีที่บริษัทฟ้องแพ่งอดีตกรรมการและผู้บริหาร 3 คน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562 ประกอบด้วย นายเสริมสิน สมะลาภา จำเลยที่ 1, นางสาวดวงกลม โชตะนา จำเลยที่ 2 และนายสุพจน์ เพียรศิริ จำเลยที่ 3 ว่าได้ร่วมกันบันทึกบัญชีที่ขัดต่อมาตรฐานการบัญชีและกฎหมาย ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และได้เรียกค่าเสียหายกับจำเลยทั้ง 3 คน จำนวน 63.36 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชดใช่ค่าสินไหมให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 36.53 ล้านบาท โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 17.53 ล้านบาท และจำเลยที่ 3 รับผิดเป็นเงิน 18.99 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ส่วนจำเลยที่ 3 จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คำพิพากาวันที่ 9 เม.ย. 2564 ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่มีการยื่นอุทธรณ์ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาล

ส่วนคดีแรงงานที่อดีตผู้บริหาร นายสุพจน์ เพียรศิริ อดีตผู้อำนวยการอาวุโวฝ่ายบัญชี เป็นโจทย์ฟ้องบริษัทเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานกลาง เรียกค่าเสียหาย 47.82 ล้านบาท โดยศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง และโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย โจทก์จึงได้ร้องขอฎีกาเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และออกหนังสือรับรองว่าคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564

นอกจากนี้ บริษัทได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบกรณีการบันทึกรายได้ค้างรับ ตั้งแต่ปลายปี 2561 และในระหว่างปี 2562-2563 กลต.ได้เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยความคืบหน้าล่าสุด บริษัทได้นำส่งสำเนาคำพิพากษาจากการฟ้องแพ่งของศาลชั้นต้นและคดีแรงงานให้ กลต. เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบ