จบประมูลมาราธอน 2 ปี 'แหลมฉบัง' กัลฟ์-ปตท.จ่อลงนามปลาย พ.ค.นี้

จบประมูลมาราธอน 2 ปี 'แหลมฉบัง' กัลฟ์-ปตท.จ่อลงนามปลาย พ.ค.นี้

ครม.เคาะผลเจรจาแหลมฉบังเฟส 3 สรุปค่าสัมปทานท่าเทียบเรือ F วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่อนุมัติไว้ 5 พันล้านบาท กทท.เร่งเปิดซอง 5 ข้อเสนอเพิ่มเติมไม่มีผลต่อการประมูล ก่อนชง กพอ.อนุมัติร่างสัญญา คาดลงนามปลาย พ.ค.-ต้น มิ.ย.นี้

การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้ข้อสรุปแล้วหลังจากที่ใช้เวลาประมูลมากว่า 2 ปี โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดยื่นซองครั้งแรกวันที่ 14 ม.ค.2562 แต่ยกเลิกประมูลเมื่อบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพราะไม่ยื่นหลักประกันซอง

หลังจากนั้น กทท.ต้องแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) และเปิดให้ยื่นซองใหม่วันที่ 29 มี.ค.2562 มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ,บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัท นทลิน จำกัด ,บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด

ระหว่างการประมูลได้มีการยื่นศาลปกครองเมื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ถูกตัดสิทธิการประมูล และเมื่อได้ข้อสรุปในชั้นศาลได้มีการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนรัฐกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ วานนี้ (7 เม.ย.) อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ​เสนอ

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเปิดข้อเสนอซองที่ 5 ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติผู้ชนะการประมูลและร่างสัญญา ก่อนที่จะประกาศผู้ชนะประมูล โดยไม่ต้องเสนอ ครม.อีก

“การลงนามสัญญาร่วมลงทุนคาดว่าทำได้ช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.นี้” เรือโทกมลศักดิ์ กล่าว

สรุปค่าสัมปทาน2.9หมื่นล้าน

น.ส.ไตรศุลี​ ไตรสรณกุล​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ​กล่าวว่า​ ข้อเสนอค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ ครม.อนุมัติอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร​ อยู่ที่ 100 บาทต่อทีอียู​ ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี​เมื่อวันที่​ 30​ ต.ค.2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 32,225 ล้านบาท หรือต่ำกว่าผลตอบแทนที่รัฐคาดหมายไว้ 3,175 ล้านบาท 

นอกจากนี้ สกพอ.รายงานว่าในการเปิดเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนครั้งที่ 1 มีมายื่นเอกสารข้อเสนอ 1 ราย แต่ขาดหลักประกันซอง โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงมีมติว่าไม่ผ่านการประเมิน ส่วนครั้งที่ 2 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย มีผู้ผ่านการประเมิน 1 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC 

สำหรับการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทนนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เสนอค่าสัมปทานคงที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 12,051 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าที่รัฐคาดหมายตามมติ ครม. โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จำนวน 6 ครั้ง โดยข้อเสนอสุดท้ายอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรคงเดิมที่ 100 บาทต่อทีอียู

ขณะเดียวกัน กทท.และ สกพอ.ได้เสนอความเห็นร่วมกันว่า ผลตอบแทนโครงการเฉพาะส่วนของท่าเทียบเรือ F จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 11.01% และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV ) อยู่ที่ 30,032 ล้านบาท และหากนำมูลค่าที่ดินของ กทท.มาคำนวณเป็นมูลค่าสุดท้าย (Terminal Value) จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 11.54% และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ 39,959 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ไม่กระทบความเสี่ยงการเงิน

ส่วนความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของ กทท.นั้น เนื่องจากมูลค่าเงินลงทุนก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลงฉบัง ระยะที่ 3 ต่ำกว่าวงเงินลงทุนที่ได้ประมาณการไว้ รวม 5,161 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนท่าเทียบเรือ F เหลือ 13,786 ล้านบาท จากเดิม 15,954 ล้านบาท ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนของ กทท.ส่วนท่าเรือ F ตามหลักการการคำนวณเป็น 27,845 ล้านบาท ดังนั้น ข้อเสนอสัมปทานคงที่ของเอกชนจึงครอบคลุมความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของ กทท.ได้รับ

ทั้งนี้การอนุมัติให้ลงทุนจะทำให้ไม่ต้องคัดเลือกเอกชนใหม่ที่ทำให้เกิดความล่าช้า โดย สกพอ.ประเมินว่าหากต้องคัดเลือกใหม่จะกระทบการเปิดท่าเทียบเรือ F อาจล่าช้าไป 2 ปี จึงมีความเสี่ยงที่ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้ 

รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ของท่าเรือในปัจจุบัน และกรณีที่มีการถมทะเลแล้วเสร็จแต่ไม่มีการร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือได้ทันที จะทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงสร้างในส่วนดังกล่าว รวมทั้งภาครัฐยังมีความเสี่ยงที่จะไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอหรือเสนอผลตอบแทนต่ำกว่าเดิม เนื่องจากการระบาดของโควิด-19