"กมธ.ประชามติ ซีกฝ่ายค้านไ ติดใจ ปมเพิ่มจำนวนเสนอทำประชามติ จ่อขอให้รัฐสภาแก้ไข

"กมธ.ประชามติ ซีกฝ่ายค้านไ ติดใจ ปมเพิ่มจำนวนเสนอทำประชามติ จ่อขอให้รัฐสภาแก้ไข

"ณัฐวุฒิ" บอก กมธ.ประชามติ ซีกฝ่ายค้าน ติดใจ ปมเพิ่มจำนวนเสนอทำประชามติ จ่อขอให้รัฐสภาแก้ไข เหลือหมื่นคน - ปล่อยผ่านหลักเกณฑ์ขอเสียง สภาฯ-วุฒิสภา เห็นชอบเรื่องทำประชามติ ทีละสภา

        นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ในซีกพรรคฝ่ายค้าน เตรียมสงวนความเห็นต่อการปรับแก้ไขมาตรา 11  วรรคสอง ที่กำหนดให้ประชาชน จำนวน 50,000 คนเข้าชื่อเสนอเรื่องทำประชามติ เป็นจำนวนที่มากเกินไป และเทียบเท่ากับการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะยืนยันจำนวน 10,000 คนตามที่กมธ. ได้พิจารณาร่วมกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 

        นายณัฐวุฒิ กล่าวถึงเนื้อหาว่าด้วยกระบวนการที่รัฐสภาเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติ ตามมาตรา 11 วรรคแรก ที่กำหนดว่า กรณีรัฐสภาจะให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งมติเห็นชอบของแต่ละสภา ให้นายกรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ในประเด็นที่ให้ใช้ความเห็นชอบของแต่ละสภานั้น หมายถึง หากสภาฯ เป็นผู้เสนอญัตติให้ทำประชามติเรื่องใด ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาและต้องได้เสียงเห็นชอบจึงจะส่งให้นายกรัฐมนตรีทราบได้ เช่นเดียวกันกับกรณีที่วุฒิสภาเสนอเรื่อง เมื่อวุฒิสภาเห็นชอบแล้ว ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติเห็นชอบเช่นเดียวกัน โดยประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ยอมรับได้ เพราะการเขียนและบังคับใช้กฎหมายประชามติต้องเป็นการทั่วไป ไม่ใช่ใช้เพื่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเนื้อหาที่กมธ.ฯ ปรับปรุงและผ่านการพิจารณานั้น มีจำนวน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 10 ซึ่งแก้ไขถ้อยคำเพียงเล็กน้อย ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ปรับปรุง ส่วนระยะเวลาการออกเสียงประชามติยังยึดตามเนื้อหาเดิมคือ ไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน ขณะที่มาตรา 11 มีสาระสำคัญ ว่าด้วยการเสนอเรื่องทำประชามติโดยสภาฯ ต้องผ่านความเห็นชอบของแต่ละสภา ด้วย ขณะที่การเสนอโดยประชาชน กำหนดให้ใช้การเข้าชื่อ 50,000 คน และให้สิทธิ ครม. พิจารณาตามเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดระยะเวลาทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วัน ยกเว้นมีความจำเป็นทางงบประมาณ หรือเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
        และแก้ไขมาตรา 20/3  ว่าด้วยการจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยไม่แจ้งเหตุ ได้แก่ ลงเลือกตั้งส.ส., ส.ว., สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, สมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, เข้าชื่อเสนอเรื่องให้ครม. ทำประชามติ, เป็นข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง, ตำแหน่งในฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระยะเวลาถูกจำกัดสิทธิดังกล่าว  กำหนดไว้ 2 ปี.