กรมพัฒน์ฯ ติวเข้มผู้รับหลักประกัน เพิ่มความรู้ประเมินทรัพย์สิน 6 ประเภทก่อนปล่อยกู้

กรมพัฒน์ฯ ติวเข้มผู้รับหลักประกัน เพิ่มความรู้ประเมินทรัพย์สิน 6 ประเภทก่อนปล่อยกู้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดหลักสูตรติวเข้มผู้รับและผู้บังคับหลักประกัน เพิ่มความรู้ในการพิจารณาทรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ 6 ประเภท พร้อมเน้น “ไม้ยืนต้น” เป็นพิเศษ หวังให้สถาบันการเงินรับเป็นหลักประกันเพิ่มมากขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังการเปิดงานสัมมนา เรื่อง “กลยุทธ์ในการพิจารณาทรัพย์หลักประกันและการบังคับหลักประกัน” ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจ มาให้ความรู้แก่ผู้รับหลักประกัน ได้แก่ สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น และผู้บังคับหลักประกัน (ในกรณีที่ธุรกิจนำทรัพย์สินประเภทกิจการมาเป็นหลักประกัน) เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการพิจารณาทรัพย์สินหลักประกัน 6 ประเภท การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น และการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้รับหลักประกันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพิจารณาหลักทรัพย์แต่ละประเภท และส่งผลให้มีการให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่นำทรัพย์สินประเภทต่างๆ มาเป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้น

สำหรับทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ มีจำนวน 6 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3.สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4.อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6.ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ ไม้ยืนต้น ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป 

    161734889651             

นายทศพล กล่าวว่า  กรมฯ ได้เชิญวิทยากรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารแรกที่รับไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันแล้ว มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องวิธีการประเมินมูลค่าไม้ การพิจารณาประเภทไม้ยืนต้น เพราะที่ผ่านมา การนำทรัพย์สินประเภทต้นไม้มาเป็นหลักประกัน ยังมีข้อจำกัดของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าต้นไม้ รวมถึงการพิจารณาไม้ยืนต้นและแนวทางการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่งธนาคารพาณิชย์และผู้บังคับหลักประกันให้สามารถนำไปปรับใช้กับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้

ขณะเดียวกัน ได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ตรง เรื่อง ประสบการณ์ในการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการจากผู้บังคับหลักประกัน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บังคับหลักประกัน หากเกิดกรณีที่ผู้ขอกู้เงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะหลักประกันแต่ละประเภท มีแนวทางการดำเนินการที่ต่างกันอย่างไรก็ตาม กรมฯ มีกำหนดที่จะจัดสัมมนาครั้งต่อไป ในเดือนพ.ค.2564 โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามการเปิดรับสมัครได้ที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เบอร์โทร 02 547 4944  Email : [email protected]

               

ทั้งนี้ตั้งแต่กรมฯ ได้เริ่มจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตั้งแต่ 4 ก.ค.2559 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับหลักประกันแล้วจำนวน 317 ราย มีผู้บังคับหลักประกันจำนวน 333 ราย ส่วนสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2564) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวน 592,748 คำขอ จำนวนเงินสูงสุดที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 9,431,986 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้อง ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด  76.81%  มูลค่า 7,244,831 ล้านบาท  รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ  23.15% มูลค่า 2,183,525 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา  0.02มูลค่า 1,985ล้านบาท  กิจการ 0.01มูลค่า 1,114 ล้านบาท  อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ  0.004 % มูลค่า 397 ล้านบาท และไม้ยืนต้น  0.001มูลค่า 134 ล้านบาท