'กรณ์’ ชู ‘ปฏิบัตินิยม’ พลิกเศรษฐกิจ ปลุกลงทุน-สตาร์ทอัพ แนะปฏิรูปราชการ

'กรณ์’ ชู ‘ปฏิบัตินิยม’ พลิกเศรษฐกิจ ปลุกลงทุน-สตาร์ทอัพ แนะปฏิรูปราชการ

ผ่านประสบการณ์การทำงานทั้งทางการเมือง ธุรกิจ มาอย่างโชกโชน สำหรับ “กรณ์ จาติกวณิช” ปัจจุบันสวมหมวกเป็นหัวหน้าพรรคกล้า ซึ่งอธิบายนโยบายด้วยหลักคิดปฏิบัตินิยม ที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจทั้งหารายได้ และลดรายจ่าย

และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่าง 'วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์‘ หรือ ในปี 2551ดังนั้นเมื่อเขาตั้งพรรคการเมืองและตั้งทีมเศรษฐกิจจากนักธุรกิจ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใหม่นี้จึงเป็นนโยบายที่น่าจับตามอง

กรณ์กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านพร้อมๆกัน และเมื่อรวมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในที่สุดแล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยจะยิ่งเข้าสู่ภาวะเติบโตต่ำ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อาจไม่ขยายตัว ดังนั้นต้องคิดใหม่ว่าในอนาคตเราจะสร้างโมเดลในการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เติบโตภายใต้ข้อจำกัดของแรงงานได้อย่างไร 

ซึ่งต้องพูดกันถึงเรื่องของการเพิ่มรายได้และการลดรายจ่าย โดยในเรื่องของการเพิ่มรายได้ต้องมุ่งไปที่เรื่องของการลงทุน การสร้างสตาร์ทอัพ ส่วนเรื่องการลดรายจ่ายต้องเน้นในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ ลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบราชการมากขึ้น

ในส่วนแรกเมื่อพูดถึงเรื่องการเพิ่มรายได้และเพิ่มเรื่องของ “การลงทุน” ปัญหาสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันคือการลงทุนลดลง ทั้งการลงทุนของเอกชนไทย การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในไทยลดลงอย่างมากทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) และการลงทุนทางอ้อมที่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยในส่วนของ FDI ของเราลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 44% ของการลงทุนในอาเซียนทั้งหมด แต่ปัจจุบัน FDI ในไทยคิดเป็นประมาณ 10% ของการลงทุนรวมในอาเซียนเท่านั้น ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนไทยในอดีตเคยขยายตัวปีละ 15 – 16% ปัจจุบันขยายตัวเพียงแค่ 1 -2% เท่านั้น ขณะที่ในส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 7 ปีที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยถึง 8 แสนล้านบาท ดัชนี MSCI ของไทยติดลบขณะที่ MSCI ของเอเชียขยายตัวได้กว่า 50%

“การขาดการลงทุนส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวยิ่งการลงทุนน้อยลงเรื่อยๆเศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งเติบโตช้า หรือไม่เติบโตเลย ต้องยอมรับว่าใน 7 ปีที่ผ่านมา เราขาดพลวัตรเรื่องของการลงทุนไปมาก และเรื่องนี้การมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้”

เขามองว่าการจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ต้องกลับมาทบทวนทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรให้ปลุกให้การลงทุนของประเทศมีความคึกคัก จึงจะสามารถออกจากวัฎจักรเดิมๆได้ทางหนึ่งที่เห็นก็คือการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของด้านต่างๆ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การเป็นประเทศเปิดรับเอาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ในประเทศและสร้างให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมกับการลงทุนซึ่งสหรัฐฯเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ด้วยนโยบายในการเปิดรับคนเก่งๆจากทั่วโลก นำเอาคนคนต่างชาติที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาช่วยสร้างนวัตกรรมและเทคโลยีเพื่อให้เกิดความเจริญมากขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลควรต้องใช้สถานการณ์และความได้เปรียบในช่วงโควิด- 19 ที่เรามีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องของการควบคุมโควิด-19 และเป็นประเทศที่ไม่ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร และประกาศเรื่องนโยบาย “Work from Thailand” โดยเร่งแก้ไขในเรื่องของปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางการลงทุน เพิ่มการอำนวยความสะดวก และการแก้ไขปัญหาเรื่องวีซ่า และใบขออนุญาตการทำงาน (work permit) 

สำหรับเรื่องโมเดลการสร้างรายได้ใหม่ๆของประเทศไทยในส่วนแรกคือนโยบายในการส่งเสริมสตาร์ทอัพซึ่งไทยต้องไปสู่จุดที่เราสร้างแพลตฟอร์มของเราเอง ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่รัฐบาลพัฒนาต่อยอดได้เพราะขณะนี้เรามีฐานข้อมูลจานโยบายที่National E-Payment ของรัฐบาลอยู่ไม่ต่ำกว่า 20 - 40 ล้านคน เป็น Ecosystem ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือต้องเอาข้อมูลที่ได้เปิดโอกาสให้เอกชน และผู้ประกอบการนำข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาในรูปแบบ “Data Sandbox” ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจต่างๆได้

161727343614 อีกนโยบายที่พรรคกล้ามองว่ารัฐบาลควรทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนคือเรื่องนโยบายบ่อนการพนักถูกกฎหมาย ในลักษณะที่เป็นคาสิโนที่ขอใบอนุญาตชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยได้ทั้งในเรื่องของการลงทุนในเบื้องต้นนับแสนล้านบาทและในเรื่องนี้ประเทศไทยก็มีโอกาสมากหากประกาศนโยบายนี้ให้ชัดเจนและเป็นเรื่องที่เราต้องเร่งตัดสินใจเพราะขณะนี้หลายประเทศเขามีการใช้นโยบายนี้สร้างรายได้เข้าประเทศ ขณะที่ใบอนุญาตที่เป็นสัญญาหลักของมาเก๊าจะหมดอายุในอีก 2 ปี หากมีการลงทุนจะทำให้เกิดการลงทุนในไทย ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้จากนโยบายนี้ ที่สำคัญธุรกิจที่เป็นสีเทาผลประโยชน์และเงินทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันเถื่อนก็จะถูกตัดลดหายไปเพราะคาสิโนถูกกฎหมายทำให้เงินที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบ

“พรรคกล้าเน้นในแนวทางปฏิบัตินิยมอยู่ในการทำให้เกิดความจริงมากกว่าทำเฉพาะเรื่องของอุดมการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดโควิด-19 ระลอก 2 ของเราก็คือในเรื่องของแรงงานต่างด้าวและบ่อนการพนัน เมื่อเกิดปัญหาจากบ่อนการพนันที่ลักลอบเล่นกันอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในเรื่องของบ่อนการพนันหากพูดกันตามตรงก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในสังคมไทยแต่เรื่องนี้เราปฏิเสธทำเหมือนไม่มี สิ่งที่ควรทำหากคิดโดยเอาหลักของปฏิบัตินิยมของพรรคกล้ามาทำก็คือทำเรื่องคาสิโนถูกกฎหมาย ให้มีการควบคุมที่ดี เป็นแหล่งที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น”

สำหรับในเรื่องของการลดรายจ่ายต้องเน้นไปที่การปฏิรูประบบราชการ เพราะระบบราชการไทยถือว่าเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ระบบราชการของเราใช้งบประมาณสูงที่สุดอันดับต้นๆของโลก หากเทียบในเอเชียก็สูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชียที่สูงกว่าไทยมีเพียงการ์ต้า และมัลดีฟส์ 

โดยประเทศไทยมีสัดส่วนของงบประมาณประจำอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าเปอร์เซนต์ซึ่งงบประมาณที่สูงในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าสวนทางกับประสิทธิภาพซึ่งในปัจจุบันลักษณะของไทยเป็นระบบราชการมากขึ้น หน่วยงานราชการมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้การปฏิรูประบบราชการยิ่งทำให้ได้ยาก

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 เราเห็นหลายประเทศนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ซึ่งมีประสิทธิภาพและลดต้นทุน ซึ่งทิศทางการปฏิรูประบบราชการในอนาคตจะต้องเป็นในรูปแบบนั้น สิ่งที่ไทยเราใช้แล้วได้ผลก็คือเรื่องของอีเพย์เมนท์ ซึ่งก็สะท้อนว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง อนาคตการลดขนาดของระบบราชการโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญเพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ รวมทั้งช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ช่วยลดปัญหาทุจริตได้เป็นอย่างดี 

“ความจำเป็นอย่างหนึ่งที่เราต้องปฏิรูประบบราชการ ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพคือข้อเท็จจริงในการจัดเก็บรายได้ของเรา ไทยเก็บภาษีได้เพียง 16% ของจีดีพี ค่าใช้จ่ายของราชการในแต่ละปีนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของภาษีที่จัดเก็บได้ในแต่ละปี ขณะที่ในกลุ่มประเทศ OECD เก็บภาษีได้ประมาณ 35%”

161727351368

สำหรับนโยบายภาษีหัวหน้าพรรคกล้ามองว่าภาษีที่จะต้องมีการปรับขึ้นคือในเรื่องของภาษีนิติบุคคลจาก 20% มาอยู่ที่ 23% ซึ่งในส่วนที่เพิ่มมาอีก 3% จะกำหนดให้เป็นรายได้ที่นำไปสร้างอนาคตประเทศ เป็นส่วนที่กันออกมาเฉพาะเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว เช่นเรื่องการปรับระบบการศึกษา สร้างทักษะของคนที่เป็นสอดคล้องกับทักษะในอนาคต การให้ทุนการศึกษาผู้ยากไร้ เป็นเรื่องที่จะใช้งบประมาณส่วนนี้ไปทำในเรื่องนี้แบบเฉพาะเจาะจง 

“พรรคกล้าเรามาด้วยคนที่ต้องการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายอาชีพ เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลง สมมุติว่าไม่ได้เป็นนายกฯแต่ในสนามเลือกตั้งเราทำได้ดี มีเสียงพอ 30 – 40 ที่นั่ง หรือประมาณ 2 ล้านเสียง ที่จะกำหนดได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งส่วนนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญว่านโยบายที่เราคิดไว้จะถูกนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติได้ตรงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญ และการทำงานของพรรคกล้าก็ไม่เหมือนกับพรรคใหญ่ ต้นทุนในการทำพรรคการเมืองของเราน้อยกว่ามาก” หัวหน้าพรรคกล้ากล่าทิ้งท้าย