ซีเอ็นเอ็นตีข่าวไทยผลักดันกะเหรี่ยงกลับเมียนมา

ซีเอ็นเอ็นตีข่าวไทยผลักดันกะเหรี่ยงกลับเมียนมา

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน ไทยผลักดันประชาชนกว่า 2,000 คน ที่พยายามหนีตายจากการโจมตีทางอากาศกลับเมียนมา

ศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยงเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวานนี้ (30 มี.ค.) ว่า ขณะนี้ประชาชน 2,009 คน กำลังพลัดถิ่นในประเทศและหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า หลังข้ามพรมแดนเข้าไปในไทยได้ไม่นานก็ถูกผลักดันกลับเมียนมา

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประชาชนหลายพันคนในรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมาต้องหนีออกจากบ้านตั้งแต่วันอาทิตย์ (28 มี.ค) เนื่องจากกองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้านในเขตควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ซึ่งควบคุมพื้นที่กว้างขวางบริเวณชายแดนไทยโจมตีป้อมทหารแห่งหนึ่งบริเวณใกล้ชายแดนมีผู้เสียชีวิต 10 คน

การไหลทะลักของผู้คนข้ามมายังประเทศไทยถือเป็นวิกฤติระลอกใหม่ของเมียนมา หลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

การโจมตีทางอากาศและการปราบปรามประชาชนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกนานาชาติประณามอย่างหนัก เฉพาะในวันเสาร์ (27 มี.ค.) มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม 114 คน มากที่สุดนับตั้งแต่ประชาชนประท้วงต้านรัฐบาลทหารนำโดยนายพลมินอ่องหล่าย

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารกองทัพเมียนมาสังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 510 คน วันจันทร์ (29 มี.ค.) ประชาชนถูกยิงเสียชีวิต 14 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและวัยรุ่นรวมอยู่ด้วย

ด้านเคเอ็นยูเผยว่า ประชาชน 3,000 คน หนีการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพ ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาในประเทศไทย แล้วถูกผลักดันกลับไป 2,000 คน องค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยง (เคดับเบิลยูโอ) ที่ปฏิบัติการอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงและค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ยืนยันว่าการโจมตีทางอากาศบีบให้ประชาชน 10,000 คนในรัฐต้องละทิ้งบ้านเรือน และข้ามมาประเทศไทย 3,000 คน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างคำพูดนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปฏิเสธข่าวผู้ลี้ภัยถูกผลักดันกลับเมียนมา

เคเอ็นยูมอบภาพถ่ายหลายภาพให้ซีเอ็นเอ็นตั้งใจแสดงให้เห็นว่า ผู้ลี้ภัยเมียนมาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไทย สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่คลิปวีดิโอถ่ายโดยชาวบ้านกะเหรี่ยง เป็นภาพผู้ลี้ภัยอยู่บนเรือโดยมีทหารไทยจับตาดูอยู่

เคเอ็นยูระบุด้วยว่า การโจมตีทางอากาศที่เริ่มต้นตั้งแต่วันเสาร์ต่อเนื่องมาถึงวันจันทร์มีพลเรือนเสียชีวิต 3 คน นักรบเคเอ็นยู เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คนในวันเสาร์

นายเดวิด ยูแบงก์ ผู้ก่อตั้งองค์กรบรรเทาทุกข์ “ฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ส” กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่มีการโจมตีทางอากาศในพื้นที่นี้

ส่วนทางการไทยแม้รัฐบาลปฏิเสธ แต่ก็ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มวิจารณ์

“การบังคับส่งคนกลับไปในพื้นที่ขัดแย้งเท่ากับส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม ขัดต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ” แถลงการณ์เมื่อวันจันทร์จากเครือข่ายกะเหรี่ยงยุโรประบุ