‘ธ.ก.ส.’ เปิดเงื่อนไขโครงการ 'ประกันภัยข้าวนาปี 64' วงเงิน 2.9 พันล้านบาท

‘ธ.ก.ส.’ เปิดเงื่อนไขโครงการ 'ประกันภัยข้าวนาปี 64' วงเงิน 2.9 พันล้านบาท

“ธ.ก.ส.” เปิดเงื่อนไขโครงการ "ประกันภัยข้าวนาปี 64" วงเงิน 2.9 พันล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 46 ล้านไร่

ภายหลังจากที่ มติ ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 พื้นที่ประกันภัย รวม 46 ล้านไร่ ภายใต้วงเงิน 2,936 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัยนั้น

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาล และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง โครงการ "ประกันภัยข้าวนาปี 64" เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 10 ซึ่งการดำเนินงานส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกันกับปี 2563

ทั้งนี้ ได้ปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ลดลง 1 บาท (จาก 97 บาท/ไร่ เหลือ 96 บาท/ไร่) และปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ซื้อประกันภัยเพิ่มและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ ลดลง 3 บาท (จาก 58 บาท/ไร่เหลือ 55 บาท/ไร่) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้

1.ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) กำหนดตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกร รวม 45 ล้านไร่

  • ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย ค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ (รวม 28 ล้านไร่) โดยรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 58 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนนุนให้ 38 บาทต่อไร่ (ยังไม่รวมค่าอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  • เกษตรกรทั่วไป และลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ซื้อเพิ่ม ค่าเบี้ยประกันภัยในพื้นที่เสี่ยงต่ำ 55 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 210 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงสูง 230 บาทต่อไร่ (รวม 17 ล้านไร่)

รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 55 บาทต่อไร่ (ยังไม่รวมค่าอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) คุ้มครองความเสี่ยงจาก 7 ภัยธรรมชาติ ไร่ละ 1,260 บาท ได้แก่

  • น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก
  • ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
  • ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น
  • ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง
  • ลูกเห็บ
  • ไฟไหม้
  • ช้างป่า และภัยศัตรูพืช หรือโรคระบาด ไร่ละ 630 บาท

2. ปรับอัตราเบี้ยประกันภัยลดลงสำหรับเขตพื้นที่ความเสี่ยงต่ำในส่วน Tier 1 มีอัตราเบี้ยประกันภัย 55 บาท/ไร่ มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 16 ล้านไร่

  • เขตพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง-สูง ยังคงราคาเดิม คือ 210 บาท/ไร่ และ 230 บาท/ไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ ซึ่งจะได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากภาครัฐ 55 บาท

3. อัตราเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจ (Tier 2) สำหรับเกษตรกรสามารถขอเอาประกันภัยเพิ่มเติมได้เมื่อเอาประกันภัยในส่วน Tier 1 แล้ว โดยแบ่งอัตราค่าเบี้ยประกันภัยเป็น 3 อัตรา ตามระดับความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ คือ 24 48 และ 101 บาท/ไร่ มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่

4.วงเงินความคุ้มครองคงเดิม

วงเงินความคุ้มครองสำหรับ Tier 1 อยู่ที่ 1,260 บาท/ไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่

  1. น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก
  2. ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
  3. ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น
  4. ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง
  5. ลูกเห็บ
  6. ไฟไหม้
  7. ช้างป่า สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อยู่ที่ 630 บาท/ไร่

และวงเงินความคุ้มครองสำหรับ Tier 2 อยู่ที่ 240 บาท/ไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ประเภท และสำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อยู่ที่ 120 บาท/ไร่

5. ระยะเวลาขายกรมธรรม์ประกันภัย กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภูมิภาค คือ

  • ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 1) จำนวน 42 จังหวัดกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2564
  • ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 2) จำนวน 16 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
  • ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564
  • ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำเนียบรัฐบาล