ธปท. ชี้ นอนแบงก์ แห่ขอไลเซ่นส์ 'สินเชื่อบุคคลดิจิทัล"คึกคัก

ธปท. ชี้ นอนแบงก์ แห่ขอไลเซ่นส์ 'สินเชื่อบุคคลดิจิทัล"คึกคัก

ธปท.ชี้แบงก์-นอนแบงก์แห่ขออนุญาตปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลคึกคัก ล่าสุดไฟเขียว 2ราย แย้มอยู่ระหว่างพิจารณาอีกหลายราย หวังช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ด้าน“กรุงศรีฯ” จ่อยื่นขอไลเซ่นส์ หลังปรับกลยุทธ์ รุกออนไลน์-ดิจิทัลเต็มสูบ

161702633888 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของการให้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) เพื่อปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) ปัจจุบันพบว่า มีทั้งสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)มีความสนใจเข้ามาขออนุญาตจากธปท.แล้วหลายราย สะท้อนความสนใจในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลรูปแบบใหม่ ที่มีผู้ให้ความสนใจในการเข้าไปปล่อยกู้ค่อนข้างมาก

     ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการอนุมัติไลเซ่นส์ ให้นอนแบงก์เข้ามาให้บริการ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว 2 ราย ณ วันที่ 22 มี.ค. 2564 คือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด และอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติเพื่ออนุญาตให้เข้ามาปล่อยกู้อีกหลายรายในอนาคต

     โดยเชื่อว่า สินเชื่อบุคคลดิจิทัล เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ที่ต้องการสินเชื่อ และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงสามารถช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.อยากเห็นมาโดยตลอด

     “วันนี้เราอนุมัติไปแล้ว 2ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาอีกหลายราย ซึ่งก็พบว่า มีผู้ประกอบการทั้งนอนแบงก์ และแบงก์ให้ความสนใจเข้ามาคุยหลายรายต่อเนื่อง ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ ในด้านผู้ประกอบการก็ต้องสร้างระบบดิจิทัล และการจัดเก็บข้อมูลต่างๆขึ้นมา เพื่อใช้ประเมินในการให้สินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น”


    ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมในการขออนุญาตจากธปท.เช่นเดียวกัน เพื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งคาดว่าหากได้รับการอนุมัติ บริษัทก็น่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ราวปลายปีนี้

     โดยการหันมาขอไลเซนส์ ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล บริษัทมองว่า สินเชื่อมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อในอนาคต จะถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล และใช้ข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน และดาต้าชุดอื่นๆมาวิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้แบงก์ และช่วยในการเข้าถึงฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

    “วันนี้เราพยายามเปลี่ยนโหมดการปล่อยสินเชื่อไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะอนาคตการปล่อยกู้คงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราลดต้นทุน ลดเวลาให้เราสามารถทำงานได้รวดเร็ว และช่วยปรับคุณภาพการปล่อยกู้ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ ว่าเราจะบุกออนไลน์เต็มที่ ดังนั้นเราจะเน้นทุกตัวที่เป็นการปล่อยกู้ดิจิทัล หากทุกอย่างเรียบร้อย หลังขออนุญาตไปก็คาดว่า ปลายปีนี้เราจะสามารถปล่อยกู้ได้”


    อย่างไรก็ตาม สินเชื่อบุคคลดิจิทัล ถือเป็นสินเชื่อเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน ให้สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) เป็นข้อมูลประกอบในการขอสินเชื่อได้เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ เพื่อใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้ด้วย

     โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้น กำหนดให้ผู้ประกอบการ สามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันไม่เกิน 25%