'หมอยง'ย้ำฉีด'วัคซีนโควิด19'เมื่อถึงคิว ช่วยไทยพ้นวิกฤติในสิ้นปี 64

'หมอยง'ย้ำฉีด'วัคซีนโควิด19'เมื่อถึงคิว ช่วยไทยพ้นวิกฤติในสิ้นปี 64

“หมอยง”ย้ำไวรัสกลายพันธุ์ไม่กระทบแผน “วัคซีนโควิด19”ของไทย เชื่อคนไทยร่วมใจฉีดเมื่อถึงคิว ไทยจะพ้นวิกฤติโควิด-19ภายในสิ้นปี 2564  สธ.เผยอินเดียชะลอส่งออก “วัคซีนไม่กระทบไทย ขณะที่ครบ 1 เดือน ไทยฉีดสะสม 1.5 แสนโดส 

       เมื่อเวลา14.00 น. วันที่ 29 มี.ค.2564ที่ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ ภายในงานSmart living with COVID-19 “Saveทุกลมหายใจ พาคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19” จัดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศไทยยังไม่มีสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิลที่เป็นการกลายพันธุ์ของไวรัส แม้จะเคยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ก็จริง แต่เป็นการพบในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกัน  ไม่ได้ปล่อยให้หลุดออกมาภายนอก
      “เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้นั้น ประสิทธิภาพยังคงเหมือนเดิมเพราะไวรัสที่ระบาดในไทยยังเป็นสายพันธุ์เดิม ซึ่งทางออกของวิกฤติโควิด-19 คือให้ประชาชนทุกคนมีภูมิต้านทานโรคขึ้นมา แม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อ 100 % แต่ลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก  ดังนั้น การที่ประชาชนเข้ามารับวัคซีนเมื่อถึงคิวนั้น  เชื่อมั่นว่าจะทำให้ภายในสิ้นปี 2564 ไทยจะพ้นวิกฤติโควิด-19”ศ.นพ.ยงกล่าว  

    ต่อมาเวลา 15.00 น. วันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข  ในการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-
19 ในประเทศไทย นพ.นพ.เฉวตสรร นามวาท  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ประเทศอินเดียมีการชะลอการส่งออกวัคซีนโควิด-19ไว้ก่อน เพื่อให้ภายในประเทศอินเดียมีการใช้อย่างเพียงพอก่อนนั้น ส่งผลให้กระทบกับโครงการโคแวกซ์  ซึ่งก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ซึ่งหากประเทศไทยเข้าไปสู่โครงการโคแวกซ์เพียงอย่างเดียวก็จะได้รับผลกระทบด้านวัคซีนจากที่ประเทศอินเดียชะลอส่งออกวัคซีน แต่ประเทศไทยมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องวัคซีนหลายด้าน  ส่งผลให้ประเทศไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศอินเดียลดการส่งออกวัคซีนโควิด-19  
     
 ไทยฉีดวัคซีนโควิด19แล้ว 1.5 แสนโดส
        นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ให้บริการฉีด “วัคซีนโควิด19”สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.- 28มี.ค.2564  จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม 154
,293 ราย  แยกเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 133,110 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 21,183 ราย โดยประสิทธิภาพของวัคซีน คือ  ป้องกันการป่วย ป้องกันการนอนรพ. ป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการตาย ซึ่งมีผลการศึกษาก่อนที่จะนำวัคซีนมาใช้นั้นเกิดประสิทธิภาพได้ดีมาก การที่สามารถป้องกันได้ 4 กรณีนี้คุ้มมากเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดจากโรคโควิด-19 ส่วนป้องกันติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อแม้จะยังไม่ 100 % แต่การที่วัคซีนป้องกันการป่วย ก็ทำให้การดำเนินการของประเทศต่างๆ ในการเปิดประเทศ การเดินทางได้ดีไม่ต้องกังวล  ถ้าหากมีการใช้วัคซีนได้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าวัคซีนส่งผลในการป้องกันติดเชื้อและแพร่เชื้อได้มากเท่าไหร่ต้องติดตามต่อไป
สงกรานต์การ์ดห้ามตก
       ต่อข้อถามการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์จะต้องเตรียมตัววางแผนหรือมีข้อควรระวังอย่างไร นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การรเดินทางเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ดีน่าพอใจ วัคซีนมีการเริ่มฉีดแล้ว และจังหวัดส่วนใหญ่เป็นสีเขียวมีผู้ป่วยระยะหนึ่งและเป็น 0 รายมายาวนาน แต่มีบางส่วนยังเป็นสีเหลืองและสีส้ม ซึ่งการเดินทางไม่มีข้อห้าม  แต่ขอย้ำให้เดินทางด้วยความระมัดระวังรักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย สแกนอุณหภูมิ และไปใสถานที่ต่างๆใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ การ์ดอย่าตก รวมถึง ระมัดระวังการเดินทาง ป้องกันอุบัติเหตุ และระวังเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันโควิดด้วย เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้การป้องกัน การรักษาระยะห่างไม่ดีเท่าที่ควร และหลายประเทศเจอกลุ่มก้อนระบาดจากรวมกลุ่มสังสรรค์


   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  มีรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญสะสม 2 ราย  ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับ “วัคซีนโควิด19” ซึ่งเป็นการรายงานจากการสังเกตอาการด้วยตนเองและรายงานผ่านแอปพลิเคชัน จำนวน 14,070 ราย คิดเป็น 10.57% แยกเป็น ปวดเมื่อยเนื้อตัว 26.16 % ปวดศีรษะ 15.73ปวด บวม แด งร้อนบริเวณที่ฉีด 15.26%  เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 12.23 คลื่นไส้ 9.16% ไข้  9.09% ท้องเสีย 5.10 % อาเจียน 3.65 ปวดกล้ามเนิ้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง 3.61 % ผื่น 3.19 %  และอื่นๆ 4.14