พาณิชย์กางผลประโยชน์อาร์เซ็ป

พาณิชย์กางผลประโยชน์อาร์เซ็ป

“พาณิชย์”กางผลประโยชน์ไทยใน อาร์เซ็ป เผยสินค้ากว่า 2.9 หมื่นรายการ จะลดภาษีทันที 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 แถมได้สิทธิ์เข้าไปลงทุนถือหุ้นได้ 70-80% พร้อมเปิด อาร์เซ็ปเซ็นเตอร์  ให้ข้อมูลผู้ประกอบการเตรียมตัวใช้ประโยชน์ คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน เปิดตัวศูนย์อาร์เซ็บ (RCEP Center)” ณ RCEP Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ว่า กระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการเกษตร เร่งรัดในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ภาคการเกษตร รับทราบข้อมูลและเนื้อหาสำคัญในข้อตกลง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงได้อย่างเต็มที่ เพราะหากอาร์เซ๋ป บังคับใช้ จะเกิดประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมากทั้งในด้านการค้า การลงทุน

ทั้งนี้ ในด้านการค้า หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในภาพของสินค้า โดยมีสินค้า 40,000 รายการโดยประมาณที่ต้องลดภาษีให้กับประเทศไทย และใน 40,000 รายการนั้น มี 29,000 รายการที่จะลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ส่วนที่เหลือประมาณ 9,000 รายการ จะลดภายใน 10-20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70-80ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้กับนักลงทุนไทย

  161700880967          

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการให้สัตยาบันความตกลงอาร์เซ็ป มีขั้นตอนการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งได้นำเสนอเข้าที่ประชุมร่วมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และ 2.ดำเนินกระบวนการภายในของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ 1.กรมการค้าต่างประเทศ ออกแบบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ให้จบ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 2.กรมศุลกากรต้องประกาศอัตราภาษีให้สอดคล้องกับข้อตกลง และ 3.กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกประกาศเรื่องการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามข้อตกลงอาร์เซ็ป

“เมื่อผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขแล้ว กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศ จะประสานงานการยื่นเรื่องให้สัตยาบันไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการอาร์เซ็ป ด้วย ก็ถือว่าจบการในขั้นตอนการให้สัตยาบันของไทย ส่วนการจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ เท่ากับ 6 บวก 3 เป็น 9 ประเทศ ถึงจะถือว่ามีการให้สัตยาบัน อาร์เซ็ป และบังคับใช้ได้ต่อไป โดยตามเป้าน่าจะเป็นสิ้นปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นกับอีก 8 ประเทศจะให้สัตยาบันครบหรือไม่”นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า  กระทรวงพาณิชย์ยังได้เปิด อาร์เซ็ปเซ็นเตอร์(RCEP Center)  หรือศูนย์ให้บริการข้อมูลอาร์เซ็ป มีการให้บริการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.รายละเอียดความตกลง 2.สถิติการค้าระหว่างประเทศ 3.อัตราภาษี 4.ถิ่นกำเนิดสินค้า 5.มาตรการการค้าของไทย และ 6.ระบบติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทย ได้เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งจะให้บริการทั้งแบบออฟไลน์ ที่จะเข้ามาขอรับบริการได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแบบออนไลน์ เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th  

161700882713

             

สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป ได้มีการเจรจามาตลอด 8 ปี และประสบความสำเร็จในปี 2562 เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน และตนได้มีโอกาสเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจในการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงครบถ้วนจากที่ค้างคากว่า 13 ข้อบท จาก 20 ข้อบท นำมาสู่การลงนามร่วมกัน 15 ประเทศเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ทำให้อาร์เซ็ป เป็นเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมกันถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก หรือ 2.2 พันล้านคน โดยมูลค่าการค้าของไทยที่ค้าขายกับประเทศอาร์เซ็ป อีก 14 ประเทศ คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ มีตัวเลขการค้า 8.5 ล้านล้านบาท

โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ มีทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ประมง ผักผลไม้ อาหารทั้งแช่แข็งและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ากระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย ส่วนประกอบจักรยานยนต์ และภาคบริการ เช่น การก่อสร้างซึ่งไทยมีศักยภาพ ด้านบริการสุขภาพ ภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชันที่เรียกว่าดิจิทัลคอนเทนต์ รวมทั้งภาคการค้าปลีก