ยกระดับ ‘ตำรวจควบคุมฝูงชน’ คง ‘แผนกรกฎ 52’ รับชุมนุมเดือด

ยกระดับ ‘ตำรวจควบคุมฝูงชน’ คง ‘แผนกรกฎ 52’ รับชุมนุมเดือด

แม้ ‘แกนนำม็อบ’ถูกเจ้าหน้าที่จับดำเนินคดี แต่ประเมินแล้วว่าการชุมนุมไม่จบลงในเร็ววันนี้ และมีทีท่ายกระดับ บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเป็นตัวเร่งอุณภูมิ

จุดพีคที่ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ออกหนังสือสั่งการ ถึง ผบช.น.,ภ.1-9, สยศ.ตร. , ก. ,ตชด. และ สงป.ให้ฝึกทบทวนข้าราชการตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือเรียกว่า ‘ตำรวจควบคุมฝูงชน’ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

หลังแนวร่วม ‘ม็อบราษฎร’ บางกลุ่ม หันมาใช้ยุทธวิธียั่วยุเพื่อให้เกิดภาพเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนเพื่อนำไปเป็นเงื่อนไขขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบัน และกดดันให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด

คงหนีไม่พ้นภาพการชุมนุม ‘กลุ่มรีเด็ม’ เมื่อ 20 มี.ค. บริเวณสนามหลวง หลังเกิดการเจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุม ที่เข้าไปรื้อตู้คอนเทนเนอร์บนถนนราชดำเนิน มีการขว้างปาประทัดยักษ์ และเผาสถานที่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำสกัด ก่อนเหตุการณ์ลุกลามไปถึงการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยาง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 33 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 13 นาย ประชาชน 20 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นนักข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ศรีษะ 1 คน และประชาชนที่โดนลูกหลง พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมได้ 28 ราย โดยมีเยาวชนอายุ 14 - 15 ปี

รวมถึงเหตุรุนแรงบริเวณหน้า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.)ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของนายกรัฐมนตรี
เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาของกลุ่ม ‘รีเด็ม’ได้รวมตัวชุมนุมจนเป็นเหตุมีผู้บาดเจ็บ 32 ราย เป็นตำรวจ 23 ราย ประชาชน 10 ราย และมีตำรวจเสียชีวิต 1 ราย

โดย ‘พล.ต.อ.สุวัฒน์’ ให้หน่วยระดับกองบัญชาการ และตำรวจภูธรจังหวัด จัดการฝึกทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชน ในทุกๆวัน วันละ 7 ชั่วโมง และดำเนินการให้เสร็จภายในเมษายน 2564 ทั้งยุทธวิธีรูปขบวน การเคลื่อนที่ให้อ่อนตัวตามสถานการณ์ การสลายฝูงชน การใช้กระบองและโล่ การข่มขวัญ และการป้องกันอย่างถูกวิธีให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ( UN ) ซึ่งเป็นแบบสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก

การฝึกทบทวนมีวงรอบอยู่แล้ว ที่ผมสั่งการไปล่าสุดเป็นการเน้นย้ำคือให้ยึดตามมาตรฐานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เป็นตัวตั้ง ซึ่งจริงๆแล้วเราฝึกมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาฝึก แต่มีหลากหลายรูปแบบ แต่เราจะเน้นอันนี้เป็นตัวหลัก โดยให้หน่วยเขารับทราบ เพราะเมื่อมาปฏิบัติร่วมกันก็จะใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ส่วนเรื่องการชุมนุม ตำรวจเน้นเรื่องความสงบความเรียบร้อย ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย ” ผบ.ตร. ระบุ

ทั้งนี้การทบทวนการฝึกดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ต่อจากนี้ แม้ ‘แกนนำม็อบ’หลายคนถูกดำเนินคดีและอยู่ในระหว่างควบคุมตัว แต่ประเมินแล้วว่าการชุมนุมไม่จบลงในเร็ววันนี้ และมีทีท่ายกระดับ บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเป็นตัวเร่งอุณภูมิ

โดยเฉพาะปัญหาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอาจเดินตามรอยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ถูกรัฐสภาโหวตคว่ำจนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และอาจส่งผลให้ผู้เสนอ คือ รัฐบาล ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก-ยุบสภา

สำหรับการฝึกตำรวจควบคุมฝูงชนแบบฉบับสากล ( UN ) ที่ใช้ดูแลการชุมนุมม็อบราษฎรในปัจจุบันเรียกว่า ‘แผนกรกฎ 52’ ที่ปรับมาจาก ‘แผนกรกฎ 48’ ที่เคยใช้รับมือม็อบเสื้อแดง-เสื้อเหลือง เพื่อเป็นการลดขั้นตอน แต่เพิ่มรายละเอียดการปฏิบัติในส่วนของขั้นตอนการจับกุมอย่างละเอียด

ได้แก่ ยุทธวิธีการจับกุมฝูงชนด้วยมือเปล่า เทคนิคแบบจับล็อค เทคนิคแบบจับล็อคและยกตัวให้ลอยขึ้นโดยไม่ให้เท้าแตะพื้น เทคนิคแบบพลิกโล่แล้วล็อคผู้ชุมนุม โดยจะมีการเพิ่มความเข้มขึ้นตามลำดับ จนถึงบังคับการใช้กุญแจมือ การใช้คลื่นเสียงก่อกวน

แต่หากมีการใช้แก๊สน้ำตาแล้วยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้ ‘แผนกรกฎ 52’ ได้เพิ่มขั้นตอนการใช้โล่ กระบอง เครื่องช็อตไฟฟ้า และกระสุนยางเป็นขั้นตอนสุดท้าย ทั้งนี้อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมสถาน การณ์การชุมนุม ต้องไม่ทำให้ผู้ชุมนุมเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยแต่ละขั้นตอนจะมีการประกาศให้ทราบก่อนเข้าดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ฝึกการควบคุมฝูงชนมีรายละเอียด และในช่วงปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจบใหม่เป็นจำนวนมากที่ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเหตุการณ์จากการชุมนุมที่ผ่านมา วิเคราะห์และถอดบทเรียนปรับแก้จุดบกพร่องเพื่อการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ลดเงื่อนไข และการบาดเจ็บ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

ส่วนกำลังพลที่ต้องเข้ารับการฝึกทบทวน รวมทั้งสิ้น 211 กองร้อย 32,705 นาย ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จำนวน 23 กองร้อย 3,565 นาย , ตำรวจภูธรภาค1 จำนวน 15 กองร้อย 2,325 นาย, ตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 18 กองร้อย 2,790 นาย, ตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 25 กองร้อย 3,875 นาย, ตำรวจภูธรภาค4 จำนวน 30 กองร้อย 4,650 นาย,

ตำรวจภูธรภาค5 จำนวน 15 กองร้อย 2,325 นาย, ตำรวจภูธรภาค 6 จำนวน 18 กองร้อย 2,790 นาย, ตำรวจภูธรภาค 7 จำนวน 15 กองร้อย 2,325 นาย, ตำรวจภูธรภาค8 จำนวน 15 กองร้อย 2,325 นาย,ตำรวจภูธรภาค9 จำนวน 18 กองร้อย 2,790 นาย
กองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดน(บก.ตชด.) จำนวน 17 กองร้อย 2,635 นาย, กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดน (กก.ตชด. 43) จำนวน 1 กองร้อย 155 นาย, กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(บก.สอ.บช.ตชด.)ชาย จำนวน 1 กองร้อย 155 นาย,บก.สอ.บช.ตชด.หญิง จำนวน 1 กองร้อย 155 นาย, กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จำนวน 2 กองร้อย 310 นาย