ชาวสวนผลไม้ ต.ไม้รูด ปลื้มวันนี้มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ส่งให้ผลผลิตดี

ชาวสวนผลไม้ ต.ไม้รูด ปลื้มวันนี้มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ส่งให้ผลผลิตดี

ชาวสวนผลไม้ ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ปลื้มวันนี้มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ส่งให้ผลผลิตดี มีรายได้ต่อเนื่อง

อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกันคล้ายลูกคลื่น ทางตอนบนของจังหวัดเป็นภูเขาและพื้นที่สูง เหมาะแก่การทําสวนผลไม้ ปลูกยางพาราและปลูกสัปปะรด มีเทือกเขาบรรทัดยาว 165 กิโลเมตร ทิศตะวันออกเป็นพรมแดนไทย - กัมพูชา ด้านตะวันตกและทางใต้ติดชายฝั่งทะเล มีความยาวถึง 165.5 กิโลเมตร ทำให้มีป่าชายเลนเกิดขึ้นจำนวนมาก

สภาพภูมิอากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป มีฝนตกชุกเนื่องจากพื้นที่ติดทะเลมีภูเขาโอบล้อม ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านประจำและยังได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอีกด้วย ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 5,000 มม.ต่อปี แม้จะมีฝนตกชุกแต่ยังขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำที่มีคุณภาพ ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ประชาชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ขาดแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรที่เพียงพอ

161672876491

ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการ ฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่จังหวัดตราด และได้กล่าวในระหว่างการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองเขาล้านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้พิจารณาโครงการจัดหาน้ำให้บริเวณศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย

ชึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย รับสั่งให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ชาวกัมพูชาที่อพยพหนีมาจากการสู้รบในประเทศกัมพูชา โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ด้วยการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กขึ้น 2 อ่าง ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ อ่างเก็บน้ำคลองเขาล้าน และอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อ่างเก็บน้ำคลองเขาล้านฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2523 ส่งน้ำสนับสนุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทยเขาล้านได้อย่างเพียงพอตลอดปี รวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรบริเวณใกล้เคียงกว่า 100 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่หน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจ ทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 เขาล้าน อีกด้วย

สำหรับอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ก่อสร้างเมื่อปี 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ให้แก่ราษฎรในตำบลไม้รูด จำนวน 450 คน 120 ครอบครัว ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร กว่า 650 ไร่ ให้สามารถปลูกพืชสวน อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรด สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้แก่พื้นที่จังหวัดตราดอีกด้วย

161672865019

องคมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดตราด มีพืชเศรษฐกิจหลายชนิด สภาพทั่วไปมีฝนตกชุกแต่ยังขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำที่มีคุณภาพทำให้ช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเกิดความแห้งแล้ง ต้นพืชและประชาชนขาดแคลนน้ำ แหล่งเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำคลองเขาล้าน และอ่างเก็บน้ำคลองมะนาวนั้น เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี 2522 - 2523 เกษตรกรได้ประโยชน์มาก ในด้านการบริหารจัดการ มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อจัดการน้ำให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ปัจจุบันมีการดำเนินการท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำสะพานหิน เพื่อเติมน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำคลองเขาล้านกับอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ซึ่งมักขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินการแล้วกว่า 80 โครงการ ซึ่งเป็นฎีกาที่ราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ ในพื้นที่ภาคกลางมีจำนวน 10 โครงการ แต่ละโครงการสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในหนี่งปี ขณะที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ได้อย่างยาวนาน

161672871662


ทางด้านนายชายดาว ขำวงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด หัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านคลองมะนาว กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นชายแดน ในอดีตมีการสู้รบแบบต่อเนื่องหลายปี ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำ ประชาชนจะต้องขุดบ่อที่ลึกและเกิดการแย่งน้ำกิน น้ำใช้เพราะปริมาณน้ำน้อย บางรายต้องเดินทางไกลเพื่อมาเอาน้ำไปใช้ ทางการเกษตรต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ต่อมาประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันบริจาคพื้นที่ทำกินเพื่อสนองพระราชดำริในการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อเก็บน้ำในหน้าฝน และมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งให้สามารถเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลาย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

161672868062

หลังจากอ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จ พี่น้องคลองมะนาวลูกบ้านผมดีใจมากต่างเฮกันเลย เพราะมีน้ำใช้ทั้งปี จนถึงทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ดี กินดี มีสวนทุเรียน แต่ก่อนมีแต่ป่า มีแต่ยางพารา ขณะนี้เปลี่ยนมาเป็นชาวสวน แต่ละปีสร้างรายได้ดีมาก ทุกวันนี้มีน้ำใช้ไม่ขาด โดยตนเองได้ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ปีนี้ผลผลิตดีมาก ประสบผลสำเร็จมาเป็นปีที่ 4 แล้ว เราได้รับความรู้จากกรมส่งเสริมการเกษตร และผสมผสานเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้รู้ว่าทุเรียนชอบปุ๋ยอะไร และวิธีการจัดการแมลงศัตรูพืช เราไม่เน้นใช้ยาเพราะจะมีผลกระทบกับผู้บริโภค แต่ต้องต้องหาวิธีมาจำกัด อาทิ การกำจัดหนอนด้วง โดยใช้อวนดักปลา มาล้อมต้น ทำให้สามารถกำจัดด้วงตัวแม่ เพราะถ้ามาติดก็จะขยายพันธุ์ไม่ได้ เลยทำให้ไม่มีปัญหาตัวด้วงกัดกินทำลายต้นทุเรียน การให้ปุ๋ยอย่างถูกหลัก และมีปุ๋ยอินทรีย์ช่วย จะเป็นปุ๋ยขี้ค้างคาวหรือกระดูกป่นก็ใช้ได้ และควบคุมการออกดอกของต้นทุเรียนเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ สำหรับผลผลิตทุเรียนจะมีล้ง (ผู้รวบรวมผลไม้) มารับซื้อถึงสวน

' ปีนี้ถูกเหมาผลผลิตไปหมดแล้ว พันธุ์หมอนทองเหมาขายในกิโลกรัมละ 160 บาท ส่วนชะนีได้กิโลกรัมละ 135 บาท”

“ เมื่อมีน้ำทุกอย่างก็ดีขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำปัจจุบันมีสมาชิกในตำบลไม้รูด 187 ครัวเรือน โดยติดตั้งมิเตอร์เก็บเงินจากสมาชิกในการนำน้ำไปใช้ รายได้นำมาเป็นทุนในการปรับปรุงบำรุงรักษาทั้งอ่างเก็บน้ำและระบบการให้บริการน้ำ รู้สึกปลื้มใจที่ประชาชนในพื้นที่ทุกคนมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง ”