‘กูรูกู้รัก’ ธุรกิจทำเงินแก้ปัญหาชีวิตคู่จีน

‘กูรูกู้รัก’ ธุรกิจทำเงินแก้ปัญหาชีวิตคู่จีน

ชีวิตรักเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์ จู เฉินหยง ที่ปรึกษาชีวิตสมรส รับหน้าที่นี้ที่ออฟฟิศเล็กๆ แห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ แต่ละวันมีคนโทรมาขอคำปรึกษาชีวิตคู่หลายสาย ซึ่งเขาถ่ายทอดสดทางออนไลน์ให้ผู้ชมได้รับชมขณะให้คำแนะนำ

บนผนังห้องเขาติดข้อความที่เปรียบเสมือนมนตรา “ขอให้ไม่มีการแต่งงานอันเลวร้ายภายใต้สรวงสวรรค์” แต่ความจริงของจีนยุคใหม่พบว่า อัตราการหย่าร้างกำลังพุ่งขึ้นมาก บริการของจูจึงเป็นที่ต้องการสูง

“ผมบอกเสมอว่า การให้คำปรึกษาชีวิตสมรสชาวจีนก็เหมือนกับการรักษามะเร็งระยะสุดท้าย” จูเล่าพร้อมอธิบายว่าลูกค้าของเขาส่วนใหญ่มาเมื่อ “วิกฤติสุดๆ”

“คนส่วนน้อยที่คิดจะหย่า แต่พวกเขาต้องการคำแนะนำว่าการหย่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่” ที่ปรึกษาวัย 44 ปีผู้ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกล่าว เขาสวมหมวกแก๊ปทรงแบนตลอดเวลาที่ถ่ายทอดสด

ก่อนหน้านี้จูเป็นที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์เมื่อเขาประกาศว่า ทำรายได้ถึงปีละ 1 ล้านหยวน ตอนนี้ทุกครั้งที่เขาออนไลน์ในภารกิจที่เจ้าตัวเรียกว่า “เพื่อหลีกเลี่ยงการหย่าโดยไม่จำเป็น”มีผู้ชมมากถึง500 ราย

แต่จูก็เข้าใจความจริงด้วยเช่นกัน จึงอยากช่วยคู่สมรสให้หาทางออกได้อย่างนุ่มนวลที่สุดเมื่อต้องแยกทางกันเพื่อลูกๆ ของพวกเขา

ข้อมูลจากรัฐบาลจีนระบุว่า ตัวเลขการจดทะเบียนหย่าปี 2563 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 8.6 ล้านคู่ เกือบสองเท่าจากยอดรวมปี 2562 เป็นครั้งแรกที่ยอดหย่าสูงกว่ายอดจดทะเบียนสมรส

ที่ผ่านมาแดนมังกรเคยใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานหลายสิบปี ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเพศชายกับเพศหญิงอย่างรุนแรง ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 30 ล้านคน เมื่อผสมผสานกับอัตราการเกิดต่ำ จีนต้องพบกับปัญหาวิกฤติประชากรในไม่ช้า

ทุกวันนี้ชาวจีนต้องเผชิญแรงกดดันจากครอบครัวให้รีบแต่งงาน ชีวิตชาวเมืองที่ต้องแข่งขันสูง ราคาบ้านพุ่งสูงเกินเอื้อม ศูนย์เลี้ยงเด็กมีไม่เพียงพอ และคุณแม่ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน ทั้งหมดนี้ทำให้หนุ่มสาวไม่อยากแต่งงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคล

“ถ้ามองในมุมบวก การหย่าร้างคือคำประกาศแห่งสังคมอารยะและการตื่นรู้ของผู้หญิง” จูกล่าวพร้อมเสริมว่าปัญหาเงินทองและการนอกใจเป็นสาเหตุหลักให้ต้องหย่า

ด้วยอัตราการเกิดดิ่งเหว เมื่อเร็วๆ นี้วารสารการแพทย์แลนเซ็ตเพิ่งคาดการณ์ว่า ประชากรจีนอาจเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2643 น้อยกว่าอินเดียและไนจีเรีย กระตุ้นให้รัฐบาลที่ตอนนี้กำลังเร่งให้ประชาชนแต่งงาน ต้องขอให้ประชาชนใช้ชีวิตคู่กันต่อไปด้วย

ปีก่อนสมาชิกสภาเสนอกฎหมายบังคับให้มีระยะเวลาสงบสติอารมณ์ก่อนหย่า 30 วัน จากที่เคยหย่าได้ภายในวันเดียว วัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อป้องกันการหย่าแบบหุนหันพลันแล่น แต่นักสิทธิมนุษยชนกลัวว่า ผู้หญิงจะต้องติดกับดักการแต่งงานที่เลวร้าย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวอาจยืดออกไปโดยไม่มีกำหนดถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่า

หวัง หยูไป่ ทนายความคดีสมรสในกว่างโจวเล่าว่า ช่วงเวลาสงบใจก่อนหย่ากลายเป็นช่วงเวลาทำร้ายกัน ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์เดิมอย่างสิ้นเชิง

“มันไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อคนที่ต้องเจ็บปวดกับความรุนแรงในครอบครัว ผู้ที่ต้องการหนีไปจากชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุข” ทนายความรายนี้ให้ความเห็น

อี้อี้ ทนายความคดีสมรสในกรุงปักกิ่งกล่าวเสริมว่าอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือหย่าโดยให้ศาลสั่ง ปกติต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งนั่นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก

ขณะนี้หลายมณฑลของจีนได้ตั้งที่ปรึกษาให้กับคู่แต่งงานหลายหมื่นคู่ รวมถึงคู่ที่เพิ่งแต่งงาน หรือที่กำลังมีปัญหา เช่น ที่เมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของประเทศ ทางการใช้ช่วงเวลาสงบใจกอบกู้ชีวิตคู่ได้ถึงเกือบ 2 ใน 3ของผู้ที่มาขอจดทะเบียนหย่า 3,096 คู่ในเดือน ม.ค.

ที่กรุงปักกิ่งก็มีที่ปรึกษาประจำการถาวรที่สำนักงานทะเบียนสมรสทุกแห่งด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับวอลเลซ ข้าราชการพลเรือนวัย 36 ปี ช่วงเวลาบังคับไกล่เกลี่ยมาช้าเกินกว่าจะเปลี่ยนใจไม่ให้หย่าได้ ศาลเซี่ยงไฮ้อนุญาตให้หย่าเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาหลังจากที่ล่าช้าไป 1 ปีเพราะโควิดระบาด ปิดฉากชีวิตแต่งงาน 3 ปีที่ไปไม่รอดเพราะพ่อตาแม่ยายเข้ามาจุ้น

“สำหรับคนที่อยากหย่าจริงๆ การไกล่เกลี่ยเป็นแค่พิธีการเท่านั้น” วอลเลซเล่า เขาเป็นหนึ่งในคนจีนรุ่นมิลเลนเนียลผู้ไม่แยแสกับการแต่งงานมากขึ้นๆ และไม่เห็นด้วยกับความพยายามผลักดันของรัฐบาล

เพื่อนของเขาหลายคนหมกมุ่นอยู่กับการที่ต้องแต่งงาน สุดท้ายกลายเป็นการหย่าร้าง

“การแต่งงานบางครั้งเป็นแค่การประนีประนอมโดยไม่ได้พิจารณาว่า พวกเขาอดทนต่อจุดอ่อนของคู่สมรสได้หรือไม่” วอลเลซกล่าวโทษว่า อัตราหย่าร้างของเซี่ยงไฮ้สูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ความยุ่งเหยิง” อันหมายถึงรูปแบบความชะงักงันทางสังคมในเมืองใหญ่ของจีนที่แข่งขันสูง วัดคนที่สถานะ ส่งผลให้คนไม่พอใจกับชีวิตตนเองทุกขณะ

วอลเลซเปรียบการแต่งงานเหมือนการพนันความเสี่ยงสูง “ถ้าคนรู้ว่าโอกาสล้มเหลว 50% คุณยังอยากจะลุ้นอีกมั้ย” เขาถาม

กระนั้นแรงกดดันยังคงมีอยู่โดยเฉพาะกับผู้หญิง ให้แต่งงานตอนอายุน้อยๆ แล้วมีลูก แต่ผู้หญิงจีนจำนวนมากขึ้นไม่อยากเข้าไปติดกับ ปีก่อนยอดจดทะเบียนสมรสจึงตกต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี

สำหรับวิเวียน วัย 31 ปี ผู้แต่งงานเพราะความโรแมนติกชั่วครู่ชั่วยาม การหย่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่เป็นเส้นทางสู่การปลดแอก

“วิธีคิดของผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราคือ การหย่าหมายความว่าไม่มีใครต้องการเธอ แต่คนรุ่นฉันคิดว่า มันก็แค่ทางเลือกส่วนตัวของคนๆ หนึ่ง เราไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย แต่น่าชื่นชมเสียด้วยซ้ำสำหรับคนที่หย่าสำเร็จ”