ส่อร้าว 'จุรินทร์' แสยะยิ้ม ปมความสัมพันธ์พรรคร่วม

ส่อร้าว 'จุรินทร์' แสยะยิ้ม ปมความสัมพันธ์พรรคร่วม

ส่อร้าวพรรคร่วมรัฐบาล หลัง "จุรินทร์" แสยะยิ้มปมความสัมพันธ์พรรคร่วม ปัดดัดหลัง พปชร. หลังไม่ดึงร่วมแก้ รธน. รายมาตรา ขอ ส.ว. ใช้ดุลพินิจยึดประโยชน์ประชาชน

 ทั้งนี้การไม่รวมพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ต้นเป็นการดัดหลังพรรคพลังประชารัฐจากเหตุการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญจากครั้งที่ผ่านหรือไม่ นายจุรินทร์ ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องนั้น ที่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ทำเพราะมีโอกาสที่ทำได้ในโลกของความเป็นจริง และจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนคือการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และจากนี้จะขับเคลื่อนใน 2 เรื่องควบคู่กัน คือ การแก้ไขปากท้อง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น เพราะมาติดหล่มทางการเมือง

ด้านแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะทำในนามรัฐบาลเลยได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องนับหนึ่งจากนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ แต่ในฐานะพรรคการเมืองก็สามารถทำได้อยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ยังปฏิเสธตอบว่าในฐานะพรรคร่วมยังเชื่อมั่นในพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ แต่กล่าวเพียงสั้นๆว่า เรื่องนี้ต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐ ตนเองไปตอบแทนพรรคพลังประชารัฐไม่ได้

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่ว่าให้มีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ว่า เป็นเรื่องที่เคยเสนอไว้แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนจะยังไม่สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ จะเห็นได้จากการลงมติในนาทีสุดท้ายนั้นก็เห็นกันอยู่ แต่ส่วนตัวยังหวังความร่วมมือ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะอาศัยแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ การจะไปตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทิ้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะล้มเหลวอีก

ส่วนจะจัดการอย่างไรกับ ส.ว. นายจุรินทร์ ได้หยุดคิดก่อนจะกล่าวว่า อยู่ที่ ส.ว. จะใช้ดุลพินิจว่าการเดินหน้าประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น จะทำให้ประเทศเดินหน้าหรือถอยหลัง สำหรับตนเองมองว่า ทำให้ประเทศเดินหน้า ทำให้การเมืองนิ่งขึ้น ไม่มีเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ควทมไม่สงบในทางการเมือง และเมือการเมืองนิ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆก็จะราบรื่น สุดท้ายคนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดคือประชาชน

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่า ขณะนี้ยังมีข้อถกเถียง เพราะข้อเสนอของตนเองที่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งไม่ได้รับการสนับสนุน จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่า การให้ทำประชามติก่อนต้องทำตอนไหน และตอนนี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องดังกล่าวอยู่ ดังนั้น จะไปเดินหน้าแก้ไขทั้งฉบับก็จะมาสะดุดที่ตรงนี้อีก ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า ควรเดินหน้าแก้ไขรายมาตราก่อน แต่ไม่ถือว่าเป็นการปิดประตูตายการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะอาจจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นในอนาคต