ไหวไหม? จากไอดอล ‘BNK48-CGM48’ สู่การแสดง แหล่งรายได้ใหม่-ฟื้นกำไร ‘ไอแอม’

ไหวไหม? จากไอดอล ‘BNK48-CGM48’ สู่การแสดง แหล่งรายได้ใหม่-ฟื้นกำไร ‘ไอแอม’

"ไอดอล" ร้องเพลง เต้นเก่งอย่างเดียว อาจสร้างรายได้ในวงแคบ แต่หากเพิ่มมีทักษะ "การแสดง" ย่อมเพิ่มโอกาสโกยมั่งคั่ง "ไอแอม" ดัน 'BNK48-CGM48' สู่งานหนัง ซีรีย์ ออกรายการทีวี น่านน้ำใหม่ทำเงิน ทดแทนอีเวนท์หด กระทบ "กำไร" หาย 40%

ธุรกิจไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป “BNK48-CGM48” ยังคงถูกต้องคำถามถึงความนิยมอยู่ในภาวะ “ขาลง” หรือไม่ ซึ่งครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้บริหารต้องยืนยันว่าไม่ใช่ขาลง แต่หากเทียบกับความดังเป็นพลุแตกเมื่อครั้งปลุกปั้นไอดอลใหม่ๆ ช่วงเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ฮิตติดลมบนและเป็นจุดสูงสุดหรือ Peak อาจมองเช่นนั้นได้ แต่ถือเป็นวัฏจักรของตลาด

“เราไม่มองเป็นขาลง และยังเชื่อมั่นว่าบริษัทและคอนเทนท์ที่ผลิต การเตรียมเปิดตัวบีเอ็นเค48 รุ่น 3 ในไตรมาส 3 จะเป็นอีกหนึ่งความตื่นเต้นและกลยุทธ์การทำตลาดให้ไอดอลขยายตัว”  มุมมองจาก บุญจิรา ธีระมโน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการและการตลาด  บริษัท อินดิเพนเด้นท์อาร์ทิสท์เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ I AM  (ไอแอม) ผู้ดูแลบริหารงานศิลปินไอดอลหญิงวง BNK48 และวง CGM48 

161618847092

แม้ยังมีโอกาสเติบโต แต่ปี 2563 ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เพราะงานหลักทำรายได้ให้บริษัทมาจากการจัดกิจกรรมต่างหรืออีเวนท์ต่างๆ ไม่สามารถจัดได้เลยลากยาวข้ามปี ทั้งคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ กิจกรรมจับมือ การแสดงในเธียร์เตอร์ เป็นต้นฯ ประกอบกับจุดแข็งที่มีคือการ “ร้องเพลง” จึงทำให้บริษัทมี “กำไร” ที่ “ลดลง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ วิกฤติทำให้บริษัทต้องปรับตัว เพื่อสร้างน่านน้ำหาแหล่งรายได้ใหม่กอบกู้กำไรให้กลับมา ด้วยการเบนเข็มสู่การสร้าง “คอนเทนท์” ต่างๆ ไม่เพียงช่วยเสริมพอร์ตโฟลิโอทางการเงิน แต่ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย 

บุญจิรา เล่าแนวทางธุรกิจไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป48(48Group)ปี 2564 คือการต่ยอดผลิตเนื้อหารายการต่างๆ(Content)ออกสู่ตลาด หลังจากสั่งสมประสบการณ์และผลงานให้เหล่าเมมเบอร์บีเอ็นเค48 ตั้งแต่ปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ สารคดี ภาพยนตรื ซีรี่ย์ เช่น Girls Don’t Cry ไทบ้าน X BNK48 (2020) จากใจผู้สาวคนนี้ และที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (Where We Belong) สามารถคว้ารางวัลจากเวทีงานภาพยนตร์ทั่วโลกมาครอง 30 รางวัล 

“เรามุ่งมั่นผลิตไอดอลอันดับ 1 แต่จะผลักดันสู่เวทีการแสดงมากขึ้น”  

สำหรับบทบาทการเป็นผู้สร้างคอนเทนท์(Content Creator)จะโฟกัส 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.Skill Development เป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทจะให้น้ำหนักในการพัฒนาไอดอลให้มีความสามารถด้านการแสดงมากขึ้น ไม่แค่ร้องเพลงเท่านั้น การกระโจนสู่สังเวียนใหม่ บริษัทจึงวาง 2 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.ลงทุนสร้างสรรค์คอนเทนท์เอง(Original Content) หนัง ซีรี่ย์ เพลง ซึ่งจะเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทในการต่อยอดรายได้ และ2.ร่วมกับพันธมิตรผลิตคอนเทนท์แบบไม่จำกัดค่าย ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม 

161618828693

การผลิตออริจินัล คอนเทนท์ปีนี้จะสร้างภาพยนตร์ 3 เรื่อง ประเดิม ห้าวเป้งจ๋าอย่าแกงน้อง ที่กำลังฉาย มี CGM48 ร่วมแสดง และเป็นงานที่ร่วมมือกับ สหมงคลฟิล์ม  และ “เปิ้ล นาคร ศิลาชัย” ตามด้วยเรื่องผ้าผีบอก ร่วมกับทาง Happy Hub ของ “มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล”  มานั่งแท่นควบคุมการผลิต เขียนบท และโปรดิวเซอร์ นำแสดงโดย 5 เมมเบอร์ BNK48  เช่น วีรยา จาง , พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค , มิลิน ดอกเทียน ,จิรดาภา อินทจักร และณัฐกุล  พิมพ์ธงชัยกุล ร่วมด้วย วอร์- วนรัตน์ รัศมีรัตน์  และ  หยิ่น -อานันท์ ว่อง ฉายไตรมาส 3

เรื่อง Cheese Sister ร่วมกับทาง Happy Hub ฉายไตรมาส 4 และ Girl Love Project ครั้งแรกกับซีรี่ย์คู่จิ้นจาก BNK48 ร่วมกับ Trasher Bangkok นอกจากนี้ ยังมีซีรี่ย์ การออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ โดยมีไฮไลท์ที่อุบไว้ คือการร่วมงานกับแพลตฟอร์มระดับโลกของ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ซึ่งคอนเทนท์จะออกอากาศทั่วเอเชีย  สำหรับการสร้าางหนังลงทุนเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อเรื่อง ส่วนซีรีย์อยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อเรื่อง 

ปัจจุบัน 48Group มีเมมเบอร์ทั้งสิ้น 84 คน โดยราว 10 คนที่มีผลงานแสดง การคัดเลือกมาจากคาแร็กเตอร์ที่เหมาะสมกับบท รวมถึงเป็นคนที่มีเอ็นเกจเมนต์ในโลกโซเชียลมีเดียดีด้วย อนาคตจะผลักดันไอดอลคนอื่นให้โดดเด่นมีผลงานอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับ 48Group ทั้งหมดมีแฟนคลับ ผู้ติดตามผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆกว่า 50 ล้านราย กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ 60% คือผู้ชายและ 40% เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 18-35 ปี เป็นฐานใหญ่ 50% ที่เหลือเป็นอายุ 16-18 ปี และมากว่า 35 ปีขึ้นไป การมีคอนเทนท์เสิร์ฟทุกช่องทางจะสร้างฐานแฟนใหม่ๆได้ 10-20% 

2.Content Leads to Music การผลิตคอนเทนท์นำไปสู่การสร้างสรรค์งานเพลง ทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ Original song เพื่อให้แคตาล็อกเพลงมีจำนวนมากและหลากหลายขึ้น ไอดอลร้องเพลงได้หลายแบบ ปีนี้เตรียมออกเพลงใหม่ของ 48Group การร่วมงานกับยูนิเวอร์แซลของวง VYRA จะปล่อยซิงเกิลแรกเมษายนนี้ และการร่วมงานกับศิลปินอินเตอร์ฯของยูนิเวอร์แซลเพิ่มด้วย 

161618820750

และ3.Monetization การสร้างงรายได้ให้องค์กร มีการนำคอนเทนท์ไปเสิร์ฟผู้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยและต่างประเทศ เช่น  Youtube BugabooTV LINE TV iTune Store  และNetflix 

 ขณะที่การจัดอีเวนท์ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ทำเงินเดิม จะเห็นกลับมาจัดอีกครั้งในไตรมาส 2 จะเห็นทั้งคอนเสิร์ต พบปะแฟนๆ(Fammeet) และ Fan Festival ต่างๆ 

ทั้งนี้ ในสกานการณ์ปกติ 48Group มีอีเวนท์ใหญ่ๆราว 8-10 งานต่อปี และสร้างรายได้หลักถึง 40% การขายสินค้า 30% ผลิตคอนเทนท์ 10-15% ที่เหลือเป็นพรีเซ็นเตอร์ เอนดอสเซอร์ต่างๆ ส่วนการบุกตลาดคอนเทนท์ปีนี้คาดว่าจะสร้างสัดส่วนรายได้เป็น 15-20% 

“บริษัทยังไม่ขาดทุน แต่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้กำไรหายไป 40% และการปรับกลยุทธ์ใหม่คาดว่าจะทำให้กำไรหดตัวลดลงเพียง 20%” 

สำหรับตลาดไอดอลกรุ๊ปมีมูลค่าหลัก "พันล้านบาท" ปัจจุบันมีวงใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการแข่งขันรุนแรง เพราะไม่ใช่มีเพียงไอดอลที่ขับเคี่ยวกันเอง ยังมี "คู่แข่ง" ทางอ้อมมากมายทั้งศิลปิน นักแสดง เซเลบริตี อินฟลูเอนเซอร์ฯ ล้วนแย่งขุมทรัพย์ "เงิน" จากกระเป๋าลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองทั้งสิ้น