เทียบเคสกะเหรี่ยง ‘บางกลอย’ จีนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

เทียบเคสกะเหรี่ยง ‘บางกลอย’ จีนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

ส่องวิธีแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนของจีน ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ? และจีนแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างชนชั้นบนสุดกับชนชั้นกลาง-ระดับล่างได้อย่างไร?

เมื่อเร็วๆ นี้มีกระแสข่าวชาวกะเหรี่ยงบางกลอย” ที่เพชรบุรี ถูกเผาบ้าน พาลงพื้นราบโดยเฮลิคอปเตอร์ ข่าวนี้สร้างความรู้สึกแบบผสมผสาน เรามาดูว่าถ้าเป็นประเทศจีน เขาจะจัดการกับกะเหรี่ยงบางกลอยกันอย่างไร

ที่ผมยกตัวอย่างประเทศจีนนั้น เพราะจีนมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน และก็ทำได้ผลสำเร็จด้วย นี่คือส่วนดีที่ควรให้การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็มีบางกระแสบอกว่าถึงแม้จีนจะบรรลุการยกระดับฐานะของประชาชน แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างชนชั้นบนสุดกับชนชั้นกลาง-ระดับล่าง (ชนชั้นยากจนแทบจะหมดไปแล้ว) แต่นั่นก็เป็นเพียงคำนินทาของพวกที่ “ไม่เอาจีน” เป็นสำคัญ

การลดทอนของจำนวนคนจนในจีนเป็นดังนี้

1.ถ้าถือเกณฑ์ที่รายได้ 1.9 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (60 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 0.7% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ และถ้านับถึงปี 2564 ก็คงเหลือไม่ถึง 1% แล้ว ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 66.2% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว

2.ถ้าใช้มาตรฐานที่ 3.2 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (100 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 7% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 90% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว

3.ถ้าใช้มาตรฐานที่ 5.5 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (170 บาท) ก็พบว่า ณ ปี 2558 มีคนจนเพียง 27.2% ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ในขณะที่ ณ ปี 2533 มีคนจีนถึง 98.3% ที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว

Numbio ได้จัดทำค่าจ้างมาตรฐานของคนในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 24,078 บาทต่อเดือน ในขณะที่ในปักกิ่งอยู่ที่ 43,947 บาทต่อเดือน และคุนหมิงเป็น 24,548 บาทต่อเดือน ผมจำได้ว่าเมื่อปี 2529 หลังจบปริญญาโทแล้วไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยียม สถาปนิกจีนมีรายได้เดือนละ 400 บาท ในขณะที่ไทยมีรายได้ประมาณ 2,000 บาทเข้าไปแล้ว แต่ขณะนี้กลับต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ แสดงว่าจีนมีพัฒนาการในยกระดับฐานะของประชาชนจริงๆ

หลายท่านคงเคยเห็นชาวจีนชนกลุ่มน้อย แบบชาวเขาที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง คนเหล่านี้เดินทางเข้าเมืองก็แสนยาก การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนก็จำกัด รายได้ก็แสนต่ำ รัฐบาลก็พยายามส่งเสริมให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่ก็มีหลายส่วนที่ต้องย้ายชุมชนลงมาข้างล่าง ลงมาอยู่ในพื้นที่พื้นราบ ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่บนภูเขาสูงเสมอไป ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างหนึ่งก็คือ การทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบ “โฮมสเตย์” หรืออาจเพียงเดินทางไปชมในเวลากลางวัน เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ซึ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยมีรายได้จากการขายสินค้าหัตถกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นรายได้ที่สูงกว่าการทำเกษตรกรรมด้วยซ้ำไป ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนในการทำนาแบบไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน หรือไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีประเทศไทยก็คือ เหล่ากะเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งในอดีตอยู่ในเขตประเทศเมียนมา แต่อพยพมาอยู่ในไทยเพราะเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในไทย กลายมาเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวหลายแห่งที่มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมาเที่ยวไม่ขาดสาย เพียงแต่ในช่วงนี้อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวเพราะปัญหาโควิด-19

ในจีนมีการ “ถอนรากถอนโคน” (Uproot) ชาวเขาเผายี (Yi) หรือลีซอกลุ่มหนึ่ง ชาวเขากลุ่มนี้อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เช่น แถวมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รวมทั้งในไทย ลาว และเวียดนาม มีประชากรรวมๆ ประมาณ 9 ล้านคน แต่อยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยมากมักอยู่บนดอยหรือเขาสูงเช่นชาวเขาทั่วไปที่เห็นในประเทศไทย

การถอนรากถอนโคนต่อชาวเขาเผายีนี้ เขานำชาวเขาจาก 38 หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาแถวยูนนานมาอยู่รวมกันในเมืองเดียว ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่บนภูเขาเช่นเดิม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด (ที่อาจจะมีเช่นในกรณีประเทศไทย) และแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางการเมืองโดยการทำให้เป็นคนจีน

ชาวเขาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้อย่างเรียบร้อย และชาวบ้านได้มีอาชีพทำสวนแอปเปิลทำให้มีรายได้ที่มั่นคงเป็นของตนเอง ปัญหารายได้ต่ำก็จะหมดไป ที่สำคัญเด็กๆ ที่แต่เดิมพูด/เขียนภาษาจีนแทบไม่ได้ ก็สามารถเรียนภาษาจีนเช่นเดียวกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าพวกเขาไม่สามารถพูด/เขียนจีนได้ ก็คงจะไม่สามารถที่จะก้าวต่อไปให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทัดเทียมคนจีนทั่วไปได้

อันที่จริงประเทศไทยก็เคยมีการย้ายยกอำเภอมาแล้วด้วยซ้ำ เช่น อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งมีทั้งวัด บ้าน สถานที่ราชการและที่อยู่อาศัย ก็ย้ายมาตั้งอยู่ในที่ใหม่ ส่วนตัวเมืองแม่เมาะเดิมก็กลายเป็นเหมืองถ่านหินไป มีการขุดถ่านหินมาใช้เป็นอันมาก ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในเวลาต่อมา ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประเทศไทยก็คงจะพัฒนาน้อยกว่าที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน

บางคนอาจเกรงว่าการย้ายชาวบ้านออกจากหมู่บ้านเดิม จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์เดิม หลุมฝังศพก็คงหายไป แต่เราไม่ควรให้ “คนตายขายคนเป็น” เมื่อมีความจำเป็นต้องย้ายด้วยการเวนคืน ก็ต้องไป คนไทยที่รวยๆ เมื่อต้องประสบกับการเวนคืนเพื่อก่อสร้างถนน ก็ต้องย้ายไป อันที่จริงคงไม่มีรัฐบาลใดอยากไปยุ่งกับความผาสุกของประชาชน แต่การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ขนาดชาวบ้านคนไทยทั่วไปยังต้องอยู่ใต้อำนาจการเวนคืน ชาวเขาก็คงต้องปฏิบัติตาม จะมีอภิสิทธิ์เหนือคนไทยก็คงไม่ได้

ส่วนวัฒนธรรมของประชาชนก็คงไม่หายไปไหนหลังจากการย้ายชุมชน อารยธรรมของชาวเขาก็คงยังอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหนแต่อย่างใด ดูอย่างวัฒนธรรมจีน คนจีนย้ายไปทั่วโลกก็ยังรักษาวัฒนธรรมจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ชาติอื่นก็เช่นกัน ชาวเขาก็เช่นกัน หมู่บ้านที่ย้ายไปอยู่ใหม่ก็อาจพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ก็ยังสามารถทำได้ และน่าจะสะดวกกับการท่องเที่ยวมากกว่าจะไปดูบนที่ที่รถไม่อาจเข้าถึง ผู้สูงวัย คนพิการ เด็กและสตรีมีครรภ์ ก็ยังสามารถไปเที่ยวชื่นชมวัฒนธรรมชาวเขาได้

ปัญหาสำหรับประเทศไทยก็คือ เราจัดการให้พวกชาวเขาอยู่อย่างผาสุกหลังการย้ายถิ่นได้หรือไม่ จะจัดการได้โดยละมุนละม่อมในการย้ายถิ่นได้หรือไม่ จัดหาอาชีพและรายได้ให้เพียงพอหรือไม่ หรืออาจให้พวกเขามีอาชีพในการลาดตระเวน ดูการบุกรุกทำลายป่า เพื่อมารายงานและป้องปรามอย่างทันท่วงทีก็ยังสามารถทำได้ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ไปทำไร่เลื่อนลอยบนเขาอีก ชาวเขาคงไม่มีสิทธิทำไร่เลื่อนลอย เพราะถ้าครอบครัวหนึ่งต้องใช้ที่ดินถึง 150 ไร่ และถ้าคนไทยอื่นอยากทำแบบนี้บ้าง ประเทศไทยคงต้องมีขนาดใหญ่กว่านี้ 10 เท่าจึงจะเพียงพอความต้องการได้

จัดการชาวเขาและชนกลุ่มน้อยให้ดี ต้องดูตัวอย่างจากประเทศจีน