เช็คลิสต์แก้รัฐธรรมนูญ "รายมาตรา" รื้ออำนาจ ส.ว.-บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 เช็คลิสต์แก้รัฐธรรมนูญ "รายมาตรา" รื้ออำนาจ ส.ว.-บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

พรรคการเมืองปรับแผนแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา “พปชร.”เล็งถกแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค ไม่แตะอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ “ก้าวไกล-ก้าวหน้า” ลุยปิดสวิตซ์ ส.ว. “ธนาธร” ประกาศเดินสายทั่วประเทศ  “เพื่อไทย” แก้ 4 ประเด็น

ภายหลังรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 3 ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องปรับแผนกันใหม่ เพราะหากยังมุ่งเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.จะส่งผลให้กระบวนการแก้ไขฯ จะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และใช้เวลายาวนาน ซึ่งกว่าจะสามารถบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ อาจต้องรอหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จึงสามารถทำได้เร็วกว่า
 

ท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) ล่าสุดวานนี้ (18 มี.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. เปิดเผยถึงแนวทาง พปชร.โดยระบุว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรายมาตรา "ผมได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะนำร่างแก้ไขรายมาตราเสนอต่อพรรค พปชร. พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในสมัยการประชุมหน้า ซึ่งเป้าหมายในการแก้ไขจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน" 

พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ ได้ระบุถึงประเด็นที่จะเสนอแก้ไข อาทิ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านและชุมชน ก็สามารถจัดหาทนายความมาให้การช่วยเหลือในทางคดี รวมถึงให้ส.ส.สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ส.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซง 

+เล็งหารือบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดในส่วนของการทำงานของสภาที่ยังมีข้อติดขัดก็จะเสนอให้แก้ไข และมองว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณนั้น เห็นควรใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 60 มีความยุ่งยาก บัญญัติเนื้อหาค่อนข้างรัดกุมมากเกินไปจนเกิดอุปสรรคในการทำงาน ทั้งนี้ในเรื่องของระบบเลือกตั้งก็ต้องนำมาหารือด้วยว่า การจะใช้บัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร

ส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 270 จากเดิมที่บัญญัติให้ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศนั้น ต่อไปจะมีการเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากคนในพรรคพปชร. เห็นว่าบทบัญญัติในส่วนใดควรจะแก้ไขก็สามารถเสนอเพิ่มเติมได้ สำหรับหมวด1 หมวด2 และ38มาตรา ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชอำนาจจะไม่ถูกพูดถึงเลย

+ ก้าวไกล-ก้าวหน้าลุยปิดสวิตซ์ส.ว.

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางพรรคก้าวไกลว่า จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยจะเน้นประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ยังมองว่าเรื่องที่สำคัญและต้องทำให้เร็วที่สุดคือการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า

ส่วนแนวทางของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ เราจะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตรา ปลดเสาค้ำยันอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนด้วยการยกเลิก ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ

“เราจะรณรงค์อย่างแข็งขันทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมรายชื่อจากประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อปรับดุลอำนาจในสังคมไทยเสียใหม่ เชิญชวนประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด มาร่วมกันสู้ตามระบบทุกวิถีทาง ให้สุดทุกทาง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าต้องการประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเทศไทยใต้ระบอบ คสช. พบกันในการรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั่วประเทศเร็วๆนี้” นายธนาธร ระบุ

+ พท.เล็งแก้4ประเด็น-บัตรเลือกตั้ง2ใบ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการนัดประชุมเพื่อมีข้อสรุป โดยแหล่งข่าวจากพรรค เปิดเผยว่า เบื้องต้นหากจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคเพื่อไทยจะต้องหารือกันภายในก่อน โดยมีอยู่ประมาณ 4 ประเด็นที่พรรคต้องการแก้ไข ประกอบด้วย 

1.การเเก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เพิ่มเติมมาตรา 159 โดยการเลือกนายกฯ สามารถเลือกนอกบัญชีได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพื่อปิดทางนายกฯ คนนอก 2.แก้ไขมาตรา 270 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฯ 

3.การยกเลิกมาตรา 279 รองรับคำสั่ง และการกระทำของ คสช. และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเพื่อไทยได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆจนทำให้พรรคไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้ยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยใช้บัตร 2 ใบเลือกคน และเลือกพรรคแทน

161611915050

+ ‘ปชป.’ลุยแก้ม.256 - ลดบทบาท ส.ว.

ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ซึ่งเตรียมนัดหมายประชุมสรุปเช่นกัน เบื้องต้นมีรายงานว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จะมีตกไปจากการโหวตวาระ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ ปชป.ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ เป็นรายมาตรา เนื่องจากเป็นคำประกาศนโยบายที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 โดยเฉพาะเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ

แหล่งข่าว ปชป.ระบุว่า ที่ผ่านมา ปชป. พยามยามเดิมหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยเน้นไปที่มาตรา 256 ในขั้นตอนและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อนมาก จนเกือบเรียกได้ว่าปิดประตูตาย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะทำไม่ได้ แต่หากพรรคสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ จะเป็นเหมือนสะเดาะกุญแจนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้ง่ายกว่าเดิม ทำให้จากนี้พรรคเตรียมพูดคุยกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตรา

“นอกจากนี้พรรคจะนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องป้องกันและจัดการทุจริตคอรัปชัน เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิชุมชน หรือสิทธิของผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงเรื่องของระบบการเลือกตั้งควรให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตก กระทบให้การเมืองขาดเสถียรภาพ” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าว ปชป.บอกด้วยว่า ที่สำคัญในเรื่องอำนาจของหน้าที่ของ ส.ว. พรรคยืนยันสนับสนุนให้รัฐสภามีระบบ ส.ว.ต่อไป แต่ควรมีการจำกัดอำนาจ บทบาทหน้าที่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

+ ภูมิใจไทยยันแก้ม.256-ตั้งส.ส.ร.

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีรายงานว่า ภท.ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีจุดยืนเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การยกเลิกอำนาจ ส.ว. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง และประเด็นอื่นๆ ควรเป็นอำนาจของ ส.ส.ร.