มาตรการรัฐรับแล้งซ้ำปีนี้

มาตรการรัฐรับแล้งซ้ำปีนี้

“ประวิตร”เรียกประชุมคณะอนุฯบริหารทรัพยากรน้ำ รับมือภัยแล้ง เผยห่วงปริมาณน้ำไม่เพียงพอ หลังพบเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งเกินแผนเกือบ 3 ล้านไร่ ด้าน“สทนช.”กางแผน 9 ด้าน เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขาดน้ำ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (15 มี.ค.) ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในที่ประชุมฯรับมือกับภัยแล้ง เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำให้ประชาชนมีเพียงพอต่อการอุปโภค และบริโภค ขณะที่การเกษตรก็ต้องมีน้ำไว้ให้ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ และต้องมีน้ำไว้อีกส่วนหนึ่งไว้ดูแลระบบนิเวศน์คือการจัดการน้ำเค็ม ซึ่งในเวลานี้ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาจัดทำประตูกั้นน้ำเพื่อดูแลในเรื่องของการรุกเข้ามาของน้ำเค็มที่จะกระทบกับการบริโภคน้ำของประชาชนด้วย 

สำหรับในเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือการปลูกข้าวเพิ่มเติมซึ่งเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้นทุกปี ในบางพื้นที่บางทีมีการปลูกข้าว 2 - 3 ครั้งซึ่งมีการใช้น้ำในการปลูกข้าวมากซึ่งต้องมาทบทวนกันอีกทีว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 

161580481429

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อใช้รองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ – กลางและเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ /ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน

5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6. ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการ ให้ความช่วยเหลือ 8. สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 9.การติดตามประเมินผล โดยมอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบนำมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

161580468593

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แผนงานโดยส่วนใหญ่หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการได้เป็นไปตามแผน ซึ่งที่ประชุมมีข้อห่วงใยในเรื่องแผนการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พบว่า มีการปลูกทั้งในเขตและนอกเขตมากกว่าแผน 2.97 ล้านไร่ จากเป้าหมายทั้งประเทศ 8.88 ล้านไร่ ซึ่งได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการจัดสรรน้ำด้วยที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนฤดูฝน