ขีดเส้น! 22มี.ค.64 'SPP Hybrid Firm' ไม่ลงนาม PPA ถูกตัดสิทธิ

ขีดเส้น! 22มี.ค.64 'SPP Hybrid Firm' ไม่ลงนาม PPA ถูกตัดสิทธิ

กกพ.ขีดเส้น “เอสพีพี ไฮบริดเฟิร์ม” ไม่ลงนาม พีพีเอ ภายใน 22 มี.ค.นี้ ตัดสิทธิดำเนินโครงการ พร้อมยึดแบงก์การันตี เตรียมสรุปผลโครงการเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาในปลายเดือนมี.ค.นี้ ก่อนวางนโยบายโยกโควตาปั้นโรงไฟฟ้าขยายผลหรือไม่

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่แข่งขันชนะการประมูลเข้าร่วม“โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ซึ่งหากไม่สามารถลงนามได้ตามกำหนดดังกล่าว ทาง กกพ.จะตัดสิทธิดำเนินโครงการ พร้อมยึดแบงก์การันตี เนื่องจากที่ผ่านมาทาง กกพ.ได้พิจารณาขยายระยะเวลาลงนาม PPA ให้กับผู้ประกอบการมาพอสมควรแล้ว

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SPP Hybrid Firm ที่สามารถลงนาม PPA ไปแล้วประมาณ 3-4 ราย เท่านั้น และเท่าที่ติดตามข้อมูล น่าจะมีผู้ที่พร้อมลงนามPPA รวมทั้งสินเกือบ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีหลายรายที่สามารถดำเนินการจัดทำรายงาน EIA ผ่านเพิ่มเติม แต่ก็มีอีกเป็น 100 เมกะวัตต์ที่คาดว่าจะไม่สามารถลงนามPPAได้ทัน”

อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ก็จะทราบผลที่ชัดเจนว่า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ที่เลยกำหนดเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปตั้งแต่ 13 ธ.ค.2562 จะสามารถลงนาม PPA เพิ่มเติมได้กี่ราย หลังจากนั้น ทาง กกพ.จะสรุปผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป

ส่วนโควตาปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือจาก โครงการ SPP Hybrid Firm จะนำไปเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” จำนวนกี่เมกะวัตต์นั้น ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทางกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่อไป

161580365517

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm เป็นโครงการที่เปิดประมูลใน ปี 2560 มีผู้ชนะประมูลทั้งหมด 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA แล้ว ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถที่จะลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมกว่า 100 เมกะวัตต์

โดยโควตาส่วนนี้ เบื้องต้นทางกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่อาจจะนำไปพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้า ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล แทน ซึ่งจะเป็นโครงการที่นำมาใช้แทนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win ปริมาณ 100 เมกะวัตต์เดิม และกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้

เนื่องจากติดปัญหาด้านสายส่งไฟฟ้าในอดีต แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงสายส่งแล้ว หรือโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลได้ โดยกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์

สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ทั้ง 17 ราย แบ่งตามรายภาค ได้แก่ ภาคใต้ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 100.85 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 84.13 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 4 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 71.02 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ และภาค กลาง 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 12 เมกะวัตต์

ขณะที่ราคาเสนอขายไฟฟ้าเฉลี่ยในการประมูลของ โครงการ SPP Hybrid Firm อยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นระดับราคาภายใต้การแข่งขันประมูลที่ถือว่าต่ำมาก