'โออาร์' รุกตลาดแอลพีจีครัวเรือน-อุตสาหกรรม รับคาดการณ์ปี64 เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

'โออาร์' รุกตลาดแอลพีจีครัวเรือน-อุตสาหกรรม  รับคาดการณ์ปี64 เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

โออาร์ เตรียมปั๊มยอดขายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม รับคาดการณ์เศรษฐกิจปี64 กลับมาฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย เล็งพัฒนามาตรฐานร้านค้าปลีก หนุนใช้แอพพลิเคชั่นยกระดับบริการ พร้อมอัดโซลูชั่นพ่วงการขายกระตุ้นลูกค้ากลุ่มโรงงาน

น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ปีนี้ บริษัท มีแผนจะเพิ่มยอดขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ในกลุ่มภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซLPG ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และน่าจะส่งผลให้กิจกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆ น่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น

“ปี64 ก็คาดว่า ยอดขายจะโตตามGDP เมื่อเศรษฐกิจโต มีการรกิน การจับจ่าย เพิ่มขึ้นทั้งจากการท่องเที่ยวที่น่าจะดีขึ้น และโรงแรมก็น่าจะมีการเข้าพักมากขึ้น ซึ่งปีก่อนโควิดมาไม่มีการตั้งตัวเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตกต่ำสุด ฉะนั้น หากเทียบกับปีก่อนยังไงยอดขายปีนี้ก็ต้องโตขึ้น”

โดยแผนขยายการเติบโตในภาคครัวเรือนนั้น บริษัทจะเข้าไปส่งเสริมร้านค้าปลีกLPG ที่เป็นเครือข่ายของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,400 ร้านค้า จากทั่วประเทศไทยมีร้านค้าปลีกLPG กว่า 40,000 ร้านค้า โดยบริษัท จะเข้าไปส่งเสริมด้านการตลาดกับร้านค้าปลีกLPG เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขายของ PTT LPG ให้มากขึ้น ร่วมถึงจะคัดเลือกร้านค้าปลีกLPG เพื่อจัดทำต้นแบบการพัฒนายกระดับมาตรฐานการใช้บริการ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นเข้าไปเสริมคุณภาพการใช้บริการ เช่น การจัดส่งก๊าซ เป็นต้น

161553752688

“ปัจจุบัน เราเป็นเบอร์ 1 ในตลาดLPG ครัวเรือน มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 49% มีจำนวนถังก๊าซขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 13 ล้านใบ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากว่า 40 ปี วันนี้ เราไม่แข่งกับใคร แต่จะแข่งกับตัวเอง เพื่อยกมาตรฐานความปลอดภัยและบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งทำให้เรารักษาแชมป์ได้ตอ่เนื่อง”

อย่างไรก็ตาม บริษัท จะไม่เข้าไปทำแย่งการทำตลาดในส่วนของร้านค้าปลีก โดยจะยึดหลักการทำธุรกิจที่เติบโตไปร่วมกันกับเอสเอ็มอี ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ที่จะเข้าไปพัฒนาให้ร้านค้ามีมาตรฐานเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจLPG หัวใจสำคัญอยู่ที่คุณภาพก๊าซ และมาตรฐานความปลอดภัย

ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น บริษัท จะเน้นเจาะตลาดในรูปแบบนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเดิมลูกค้าอุตสาหกรรมจะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อทำความร้อนอยู่ 3 ชนิด คือ น้ำมันเตา ดีเซล และLPG แต่ปัจจุบัน บริษัทมีทีมงานเทคนิคเฉพาะที่จะเข้าไปพัฒนาและออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คลัง ท่อ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อติดตั้งรองรับการใช้งานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เช่น ล่าสุดได้เจรจากับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งทางบริษัทก็ได้นำเสนอก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาจำหน่ายป้อนให้กับลูกค้าด้วย โดยเป็นการจัดซื้อก๊าซมาจากบริษัทแม่ คือ ปตท. ซึ่งในปีนี้ ก็จะเห็นการเข้าไปทำตลาดในลักษณะการนำเสนอโซลูชั่นกระตุ้นการขายมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคยานยนต์ จะไม่มีการลงทุนขยายปั๊มLPG เพิ่มเติม จากปัจจุบัน มีอยู่ที่ 228 แห่ง เนื่องจากแนวโน้มผู้ใช้รถLPG มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ส่วนจะมีการปิดปั๊มก๊าซLPG เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ก็จะต้องเข้าไปพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย โดยหากปั๊มไหนยังมีความคุ้มทุนและตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับการใช้บริการกลุ่มรถขนาดใหญ่ หรือ รถบรรทุกได้ ก็จะนำหัวจ่ายน้ำมันดีเซลเข้าไปติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ของกลุ่มรถบรรทุก และลดความแออัดในปั๊มน้ำมันทั่วไปด้วย